นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรอบการเจรจากรอบการค้าหรือเอฟทีเอไทย-อียู  ว่า กรอบการเจรจานี้ เป็นเรื่องที่ต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี แล้วโฆษกรัฐบาลจะเป็นผู้แถลงให้ทราบ ซึ่งในหลักการนั้นรัฐบาลมีหลักการที่ชัดเจน เมื่อนำเรื่องกรอบการเจรจาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว  จะต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่ออนุมัติอีกครั้ง  เพื่อให้เป็นกรอบไปเจรจา และเมื่อเจรจาเสร็จแล้ว ได้ผลเป็นอย่างไร ก็ต้องแจ้งผลเพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติผลการเจรจา และยังต้องนำเข้ารัฐสภาอีก

“ในหลักการของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้อย่างชัดเจนว่าต้องไปต่อรอง โดยต้องไม่ให้เสียผลประโยชน์ของประเทศ เพราะฉะนั้นในหลายประเด็นที่หลายฝ่ายวิตก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรยา การเข้าถึงยา  ซึ่งจะมีวิธีเจรจาและขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ ในหลักการจะไม่เสียสิทธิเดิมที่เรามีอยู่ และสมมุติว่าหากเจรจาแล้ว เขาไม่ยอมรับเรื่องนี้  เราก็จะไม่เจรจากับเขาในเรื่องนี้ นั่นหมายความว่าเราไม่ยอมรับในเรื่องที่เราจะเสียผลประโยชน์” นายแพทย์ประดิฐกล่าว

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในกรอบการเจรจาการค้านี้  มีหลายเรื่องรวมถึงเรื่องยาด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องรับทุกเรื่อง เราต้องต่อรองว่าเราต้องการแบบนี้ เช่นในเรื่องเกี่ยวกับยา หากการเจรจาเป็นไปตามที่ฝ่ายเราต้องการคือ เราไม่เสียประโยชน์ใดๆ ทั้งเรื่องการขยายสิทธิบัตรยา การคุ้มครองตัวยา ก็ถือว่าจบ  ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเพราะรัฐบาลมีหลักการที่ชัดเจนอยู่แล้ว การเจรจาเรื่องใดๆนั้นต้องมีการต่อรอง เมื่อต่อรองกันแล้วไม่เสียประโยชน์เราก็จบ ถ้าเขาไม่ยอมเราก็ไม่คุยต่อ เพราะนายกรัฐมนตรีได้ให้กรอบไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ กลไกการเจรจากรอบการค้าโดยทั่วไปนั้น   หากเริ่มต้นมาตรการที่จะมีผลเสียต่อประเทศไทย เราจะหยุดชั่วคราวก่อน เพราะถือว่าอยู่ระหว่างการเจรจา  และถ้าเราเริ่มต้นเจรจาก่อนที่ผลจะออกมาในอีก 2-3 ปีข้างหน้า  จะเป็นผลดีกับประเทศมากกว่าไม่เจรจา ฉะนั้นการที่เราไปยุติ บอกว่าไม่อยากจะเริ่มต้นการเจรจา จะมีแต่ผลเสียต่อประเทศ   นายแพทย์ประดิษฐ กล่าว

********************************** 4 ธันวาคม 2555



   
   


View 8    04/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ