จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เผยผู้ชายร้อยละ 7 และหญิงร้อยละ 1 มีปัญหาตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวมาก่อนจนกว่าจะสมัครเรียนหรือทำงานที่ต้องทดสอบตาบอดสี ทำให้เสียโอกาสหลายด้าน มีผลกระทบต่อจิตใจ ชี้โรคนี้เป็นกรรมพันธุ์ ไม่มียารักษา แนะแนวทางแก้ไขเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มบริการตรวจคัดกรองตาบอดสีในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ทุกโรงเรียน ทั้งในสังกัดรัฐและเอกชน เพื่อวางแผนอนาคตให้เด็กอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งการเรียน การเลือกอาชีพ และครอบครัว
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเด็กนักเรียนหลายคนที่ต้องพลาดโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพที่ต้องการ เนื่องมาจากปัญหาสายตาผิดปกติ โดยเฉพาะโรคตาบอดสี (Color Blindness) ซึ่งปีนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว เช่นกรณีเด็กนักเรียนอายุ 16 ปี เป็นความหวังของครอบครัว เสียเงินค่าเรียนกวดวิชาหลายหมื่นบาท เพื่อหวังสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ผลปรากฎว่าเด็กรายนี้สอบได้ แต่เด็กไม่ทราบว่าเป็นโรคตาบอดสีมาก่อนกวดวิชา มารู้ตอนหลังถึงแม้ว่านักเรียนผู้นี้จะผ่านข้อเขียน ก็ไม่สามารถผ่านการตรวจร่างกายเพราะเป็นโรคตาบอดสี
นายแพทย์ฐาปนวงศ์กล่าวว่า โรคตาบอดสีไม่ใช่โรคตาบอดหรือมองไม่เห็น และโรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หากมีพ่อหรือแม่เป็น คนไทยยังรู้จักโรคนี้น้อย ผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีมีการมองเห็นเป็นปกติ แต่จะมีความผิดปกติในเรื่องของการแยกสี โดยทั่วไปจะมี 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มตาบอดสีแต่กำเนิดซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมตาบอดสีชนิดนี้พบมากในผู้ชายร้อยละ 7 และผู้หญิงพบร้อยละ 1 แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ชนิดที่พบมากที่สุดคือตาบอดสีแดง สีเขียว (red/green color blindness) ผู้ป่วยจะแยกสีแดงและสีเขียวออกจากสีอื่นๆ ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะเวลาที่แสงไม่สว่างนัก ชนิดที่พบรองลงมาคือตาบอดสีน้ำเงิน สีเหลือง (blue/yellow color blindness) มีปัญหาในการแยกสีน้ำเงินและเหลืองออกจากสีอื่นค่อนข้างลำบาก ซึ่งคนที่บอดสีแดง สีเขียว มักจะมีปัญหาบอดสีน้ำเงิน สีเหลืองด้วย และชนิดสุดท้ายคือตาบอดสีทุกสี (Achromatopsia หรือ Total Color Blindness) เป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด ผู้ป่วยจะมองไม่เห็นสีทุกสี เห็นแต่เพียงสีขาวและดำเท่านั้น และ2.กลุ่มตาบอดสีที่เกิดขึ้นภายหลัง จะพบในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางจอประสาทตาหรือโรคเส้นประสาทตาอักเสบ พบได้น้อย ผู้ป่วยจะมองเห็นสีต่างๆ แต่มักเรียกชื่อสีหรือเห็นสี ผิดไปจากสีที่แท้จริง ส่วนใหญ่จะผิดปกติสีน้ำเงิน สีเหลือง มากกว่าสีแดงสีเขียว โดยความผิดปกตินี้อาจเป็นตาเดียวหรือเป็นทั้ง 2 ตา ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค
นายแพทย์ฐาปนวงศ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน วงการจักษุแพทย์ทั่วโลกยังไม่สามารถรักษาโรคตาบอดสีให้หายขาดได้ และตาบอดสีในคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นแต่กำเนิด วิธีที่ดีที่สุดที่จะรู้ว่าตนเองมีปัญหาหรือไม่ก็คือการตรวจความผิดปกติสายตาเพื่อให้รู้ตัวว่าเป็นโรคตาบอดสีหรือไม่ จะได้วางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม เลือกงานอาชีพที่ปลอดภัย ในกลุ่มประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบการมองเห็นตนเอง หากมองแล้วแยกสีไม่ได้เหมือนคนอื่นควรพบจักษุแพทย์ โรคนี้ไม่มียารักษา สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ เลือกงาน และอาชีพที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะคู่สามีภรรยาที่เป็นโรคนี้ มีความเสี่ยงถ่ายทอดพันธุกรรมไปสู่บุตรหลาน ขอแนะนำให้พาลูกไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าลูกมีปัญหาตาบอดสีหรือไม่ตั้งแต่เนิ่นๆ และให้รู้ว่าบอดสีประเภทไหน เพื่อวางแผนอนาคตของลูก ทั้งเลือกสายการเรียน อาชีพในอนาคต การใช้ชีวิตประจำวัน
“ในฐานะจักษุแพทย์ ขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มบริการตรวจคัดกรองตาบอดสีให้เด็กนักเรียนที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกโรงเรียนทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการตรวจตาบอดสีในโรงเรียนมาก่อน การตรวจตั้งแต่อยู่ชั้นประถมปีที่ 1 จะเป็นผลดีต่อตัวเด็ก ทำให้เด็กรู้ปัญหาของตนเอง รวมทั้งพ่อแม่รู้ปัญหาของลูก เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคตจนกระทั่งมีครอบครัว ลดผลกระทบทางจิตใจ เพราะตาบอดสีสามารถเรียนได้ และทำงานบางประเภทได้ซึ่งมีให้เลือกอย่างหลากหลาย ซึ่งการทดสอบนั้นมีวิธีการง่ายมาก โดยใช้ภาพทดสอบตาบอดสีอย่างง่ายซึ่งมี 13 แผ่น ราคาถูก หากพบผิดปกติให้ส่งไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาล เป็นวิธีการที่คุ้มค่าและมีประโยชน์มากที่สุด เพื่อเลือกสายอาชีพให้เด็กอย่างเหมาะสม ” นายแพทย์ฐาปนวงศ์กล่าว
นายแพทย์ฐาปนวงศ์กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ตาบอดสีสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป เพียงแต่การแปรผลผิดไปจากความจริงเท่านั้น ถ้าตาบอดสีไม่มากนัก สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นตา จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์ ตรวจเช็คสายตา ให้คำแนะนำในการปรับตัว และแนวทางการรักษา ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีแต่กำเนิดควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำถึงโอกาสการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะตาบอดสีในหมู่ญาติ ส่วนผู้ที่มีตาบอดสีภายหลังควรรับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุ และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ อาชีพที่ไม่เหมาะสมกับคนตาบอดสี คืออาชีพที่ต้องมีการใช้สีเป็นตัวแสดงถึงสิ่งต่างๆ และเกี่ยวข้องกับอันตรายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินผู้อื่น เช่น ทหาร ตำรวจ นักบิน นักเดินเรือ นักร้อยสายไฟ วิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการ รวมทั้งอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะสี เช่น นักเคมีที่ต้องทำงานกับสี จิตรกร พนักงานตรวจคุณภาพสินค้า (QC) เป็นต้น หากทราบว่าเป็นตาบอดสีตั้งแต่แรกๆ มักไม่มีผลกระทบต่อจิตใจมาก เพราะจะได้รับคำแนะนำ มีทางเลือกอื่นในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม เช่นหากตาบอดสีขาวดำ สามารถเป็นนักบัญชีได้ หรือเป็นนักกีฬาบางประเภท เช่นนักว่ายน้ำได้
*********************************** 2 ธันวาคม 2555