นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การอนามัยโลก และสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคเบาหวานพร้อมกันทั่วโลก ในปี 2555 นี้ ได้กำหนดคำขวัญในการรณรงค์ว่า “พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน” ( Diabetes : protect our future) มุ่งเน้นให้ความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตและกำลังสำคัญของประเทศ รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู บุคลากรสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักภัยจากโรคเบาหวาน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพป้องกันการป่วย

       นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อ เป็นแล้วจะมีอาการเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด เป็นภัยเงียบ คุกคามสุขภาพและชีวิตของประชากรทั่วโลก สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2553 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานอายุ 20-79 ปี 285 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 438 ล้านคนในปี 2573 ในจำนวนนี้ 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย ที่สำคัญคือมีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 4.4 แสนคนป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน และแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 70,000 คน มีแนวโน้มป่วยเป็นเบาหวานชนิดนี้ ซึ่งจะทำให้มีอายุสั้นลงอีก 10-20 ปี โดยพบในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด
 
     สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 22.2 ล้านคน ในพ.ศ.2554 พบผู้ป่วยเบาหวาน 1,581,857 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน 277,020 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด โดยมีภาวะแทรกซ้อนทางไตมากที่สุด เช่นไตวาย ร้อยละ 25 รองลงมาคือแทรกซ้อนทางตาเช่นตาต้อกระจก ต้อหินร้อยละ 23  คาดการณ์ว่าในอีก 8 ปีข้างหน้าไทยจะพบผู้ป่วยถึง 4.7 ล้านราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 52,800 ราย แนวโน้มพบในเด็กมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เด็กไทยเผชิญความอ้วนมากขึ้น หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ
 
       นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ต้นเหตุสำคัญ โดยส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานคือความอ้วน เนื่องจากมีการสะสมของเซลล์ไขมันในร่างกาย และสร้างสารที่มีฤทธิ์ดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยนำน้ำตาลในเลือดไปใช้สร้างกล้ามเนื้อและไขมัน และขัดขวางการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูง เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ทั้งนี้ สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติ คอแห้ง กระหายน้ำ และดื่มน้ำมากผิดปกติ หิวบ่อย กินจุแต่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง ซึมและหายใจหอบเหนื่อยง่าย เด็กบางรายปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน หรือปัสสาวะทิ้งไว้มีมดตอม เป็นแผลเรื้อรัง แผลหายช้า คันตามผิวหนัง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ขอให้พบแพทย์ ส่วนโรคเบาหวานในเด็ก สามารถสังเกตได้ โดยดูจากน้ำหนักตัวและรูปร่างของลูกว่าเริ่มมีภาวะอ้วน ร่วมกับมีรอยดำรอบต้นคอ ใต้รักแร้ หรือขาหนีบ ให้สงสัยว่าลูกอาจเป็นเบาหวาน ขอให้พาไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงผิดปกติหรือไม่
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2555-2556 กระทรวงสาธารณสุข ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขทุกพื้นที่ รณรงค์ค้นหาโรคเบาหวานในประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคน   เพื่อให้ความรู้ประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นเบาหวาน และประชาชนทั่วไป หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตป้องกันไม่ให้ป่วย โดยใช้หลัก 3 อ. 2ส. ได้แก่ อาหาร กินให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่พอเหมาะ กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น กินปลาและเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสหวานหรือเค็มมากเกินไป และอาหารจานด่วน ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว และทำให้จิตใจแจ่มใส หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุรา นอกจากนี้ควรจำกัดชั่วโมงการเล่นคอมพิวเตอร์และดูโทรทัศน์ของลูกหลานไม่ให้เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากเด็กจะกินอาหารเพิ่มขึ้น ระหว่างทำกิจกรรมเหล่านั้น
 
          ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยเบาหวานขณะนี้ร้อยละ 95 เป็นเบาหวานที่เกิดมาจากพฤติกรรมทั้งจากการกินอาหารรสหวาน อ้วน และดื่มสุรามาก ไม่ใช่จากกรรมพันธุ์ สาเหตุเกิดจากการกินอาหารไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้ว ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เน้น 3 เรื่องคือควบคุมอาหาร กินยาต่อเนื่อง ออกกำลังกาย และพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ รวมทั้งอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณอาหารเสริมต่างๆ ว่ากินแล้วสามารถรักษาโรคให้หายได้ จนขาดนัดติดตามการรักษาของแพทย์ ซึ่งจะทำให้อาการกำเริบ เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายตามมา
 
   *************************      14 พฤศจิกายน 2555
 
 


   
   


View 11    14/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ