รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขยายฐานสร้างสุขภาพเด็กไทย โดยจัดอบรมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นยุวอสม.นำร่องในพื้นที่กทม.50 เขต จำนวน 2,500 คน มีครูสุขศึกษา ครูอนามัย ครูพลศึกษาเป็นพี่เลี้ยง  คาดหวังยุวอสม.รุ่นนี้ จะบุกเบิก สร้างจำนวนคนไทยสุขภาพดีเพิ่มขึ้น  ลดปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ยาเสพติด การักษาพยาบาลเบื้องต้น เล็งขยายผลต่อไปอีก 10,000 คน 

        (วันนี้ 9 พฤศจิกายน 2555)  ที่ศูนย์การค้า เจ เจ มอลล์ เขตจตุจักร กทม. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรยุวอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ ยุวอสม.รุ่นที่ 1 ประจำปี 2555 ให้ความรู้ความเข้าใจเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน ในด้านการใช้ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร สุขภาพจิต การรักษาสุขภาพเบื้องต้น และการสื่อสารสุขภาพ โดยมีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียน 50 แห่งที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯจำนวน 2,500 คน โรงเรียนๆละ 50 คน รวมทั้งครูสอนสุขศึกษา ครูอนามัย และครูพลศึกษาจำนวน 50 คน เข้าร่วมการฝึกอบรมด้วย

         นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพของเยาวชนไทย มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงและเกิดการเจ็บป่วยมากขึ้น ทั้งโรคติดต่อและโรคที่ไม่ติดต่อที่มีอาการเรื้อรัง  รวมถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันแบบตามใจตัวเองของเยาวชน  การใช้ยาลดความอ้วน  การรับประทานอาหารประเภทเน้นหนักเนื้อสัตว์มาก ผักน้อย  ปัญหายาเสพติด อุบัติเหตุจากความคึกคะนอง และความเครียด  ทำให้เยาวชนไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆตามมา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การเรียน ความสุขความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง

        จากการสำรวจพฤติกรรมของเด็กอายุ 6-15 ปีทั่วประเทศ ในรอบ 2 ปีมานี้ พบว่าเด็กไทยประมาณร้อยละ 12 ดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน หรือกินขนมกรุบกรอบทุกวัน  ซึ่งหากขาดการดูแลสุขภาพช่องปากด้วย  จะก่อให้เกิดปัญหาฟันผุตามมา  โดยผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขครั้งล่าสุดเมื่อพ.ศ.2550 พบว่าเยาวชนอายุ 15 ปีทั่วประเทศเกือบ 2 ใน 3 เป็นโรคฟันผุ  ขณะเดียวกันมีรายงานการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนอายุ 12-15 ปี ของกรมอนามัยปี 2551  พบว่ามีเด็กเผชิญโรคอ้วนร้อยละ 4 หรือกล่าวได้ว่าขณะนี้นักเรียนระดับมัธยมเป็นโรคอ้วนแล้วประมาณ 1.4 ล้านคน  และอีกร้อยละ 10  มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเสี่ยงเป็นโรคอ้วน หากเด็กอ้วนนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจสูงกว่าเด็กปกติ  และมีประสิทธิภาพการทำงานน้อยกว่าคนปกติ      โดยมีนักเรียนร้อยละ14 ที่มีกิจกรรมการออกกำลังกาย ซึ่งรวมแล้วไม่น้อยกว่าวันละ 60 นาทีตลอดสัปดาห์ และอีกร้อยละ 7-8 มีความวิตกกังวลบางอย่างจนนอนไม่หลับ  มีอาการซึมเศร้าและพฤติกรรมผิดปกติจนอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้  นอกจากนี้ยังมีปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย  เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

        ในการป้องกันปัญหาและส่งเสริมปลูกฝังให้เยาวชนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี  กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และกระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรยุวอาสาสมัครสาธารณสุขขึ้น และนำร่องในกทม.ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ   เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนได้มีบทบาทในการพัฒนาสุขภาพขณะที่อยู่ในโรงเรียนและชุมชน มีความรู้และทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ขยายผลสู่ครอบครัว ชุมชน รักษาพยาบาลเบื้องต้นได้เมื่อเจ็บป่วย  การจัดการอารมณ์เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งการสื่อสารด้านสุขภาพ โดยให้ครูเป็นที่ปรึกษา  ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นนำร่อง และกระทรวงสาธารณสุขมีแผนขยายอบรมรุ่นต่อไปอีก 10,000 คน และอาจขยายผลอบรมในเด็กระดับประถมศึกษาด้วย  เพื่อปลูกฝังการดูแลสุขภาพให้ติดตัวตลอดชีวิต  ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด และไทยอาจเป็นประเทศต้นๆในโลกที่ริเริ่มลงทุนสร้างสุขภาพในกลุ่มเด็ก โดยนำการสาธารณสุขมูลฐานมาปรับใช้ เพื่อให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ขณะนี้มี 1.2 ล้านคน                 

***************  9  พฤศจิกายน 2555



   
   


View 14    09/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ