“หมอชลน่าน”เผยผู้หญิงใน กทม. โหมงาน มากกว่ากิจกรรมอื่น วันละกว่า 9 ชั่วโมง หวั่นกระทบการเลี้ยงดูเด็ก เตรียม 4 แผนงานดูแลในปี 2556 เน้นสุขภาพจิตหญิงตั้งครรภ์ หวังหากแม่อารมณ์ดี สุขภาพจิตลูกจะแจ่มใสด้วย
วันนี้( 5 พฤศจิกายน 2555 ) ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กทม.นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2555 ซึ่งตรงกับวันที่ 1-7พฤศจิกายน 2555ภายใต้หัวข้อ รวมพลังสร้างรอยยิ้มให้สตรีและเด็ก เพื่อป้องกันมิให้ผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของสังคม และพัฒนาให้เด็กเติบโตเป็นอนาคตของชาติสมบูรณ์ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต มีสติปัญญาดี และพัฒนาให้สตรีเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคุณภาพให้เด็กและครอบครัว
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายสร้างและสนับสนุนโอกาสให้เด็กและสตรี ได้รับการพัฒนาและแสดงศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องยอมรับว่าสภาพสังคมและเศรษฐกิจขณะนี้ มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดในชีวิตประจำวันได้ ผลสำรวจที่ผ่านมาพบได้ประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ 13 ล้านคน และค่านิยมสังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากสมัยก่อน ที่เคยพูดว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เป็นแม่บ้าน ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ผู้หญิงสมัยนี้นอกจากต้องเลี้ยงดูลูกและงานบ้านแล้ว ต้องแบกรับเรื่องการทำงานช่วยเศรษฐกิจของครอบครัวด้วย
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตร่วมกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 22-29 ตุลาคม 2555 ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกทม.และปริมณฑล จำนวน 1,203 ตัวอย่าง พบว่า ในแต่ละวัน ผู้หญิงใช้เวลาทำงาน/เรียนมากที่สุด เฉลี่ยนาน 9 ชั่วโมง 15 นาที มากกว่ากิจกรรมอื่นๆ โดยใช้เวลาให้ครอบครัวเช่นพบปะ พูดคุยกับคนในครอบครัว ทานข้าว ดูทีวี เฉลี่ย 3 ชั่วโมง 50 นาที ข้อมูลเช่นนี้ น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้ที่มีลูก มีครอบครัว เด็กอาจขาดที่พึ่งและมีผลต่อพัฒนาการในอนาคตได้ และจากผลสำรวจเดียวกันนี้ พบว่าผู้หญิงเกือบ 1 ใน 4ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง โดยร้อยละ 19ต้องรับผิดชอบครอบครัวตามลำพัง และอีกร้อยละ 10 ระบุว่ามีบุตรหลาน คนในครอบครัวเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และร้อยละ 2 เคยถูกละเมิดทางเพศด้วย
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่ออีกว่า ในการป้องกันปัญหาและส่งเสริมสุขภาพของสตรีและเด็ก ในปีงบประมาณ 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดแผนงานเพื่อเด็กและสตรี 4 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.การให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ โดยขยายบริการศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อดูแลเยียวยาสตรีและเด็กทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากความกดดันและปัญหา
2.จัดบริการคลินิกฝากครรภ์ดูแลฟูมฟักมารดาในระยะตั้งครรภ์และก่อนคลอด โดยจะตรวจคัดกรองปัญหาความเครียดและภาวะซึมเศร้าตลอดจนให้การช่วยเหลือติดตามแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกราย ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดฯที่มีกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากมีผลวิจัยว่าหากแม่สุขภาพจิตดี จะส่งผลพัฒนาการสติปัญญาและอารมณ์ของเด็กแจ่มใสด้วย หากแม่มีอารมณ์ซึมเศร้า จะทำให้เด็กมีปัญหาในเรื่องของการเข้าสังคมหรืออีคิว 3.จัดบริการคลินิกเด็กสุขภาพดี และคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองปัญหาที่ขัดขวางการเติบโตของเด็กทุกคน และมีการกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้เจริญเติบโตสมวัยทุกด้านทั้งกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญาครบ 100 เปอร์เซนต์ และ4.โครงการ 1 คลินิก 1 โรงเรียน เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษา กับโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ เพื่อดูแลสุขภาพกายและจิตใจนักเรียนก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอย่างมีคุณภาพ เติบใหญ่เป็นวัยทำงาน สร้างสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ มีศักดิ์ศรี ทั้งนี้จะมีการประเมินผลการตอบรับของประชาชนเป็นระยะๆ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไป นายแพทย์ชลน่าน กล่าว
ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าการสำรวจความสุขของสตรีที่กล่าวมา ดำเนินการ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ พบว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงมีคะแนนความสุขเฉลี่ย 7.46คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน โดยผู้หญิง 2 ใน 3 ยืนยันครอบครัวคือสิ่งที่ช่วยสร้างความสุขและรอยยิ้มได้มากที่สุด ร้อยละ 66รองลงมาคือการงานการเรียน ร้อยละ 11 สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงร้องไห้ เป็นทุกข์มากที่สุดคือ เรื่องการเงินรายรับรายจ่าย พบร้อยละ 28 รองลงมาคือ ครอบครัว/พ่อแม่/พี่น้อง ร้อยละ 24เรื่องความรัก /แฟน /คู่รัก ร้อยละ 18 เมื่อถามถึงบุคคลที่จะนึกถึงคนแรกไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ กลุ่มตัวอย่างตอบว่าคือพ่อและแม่ ร้อยละ 38รองลงมาคือลูกและสามีร้อยละ 21
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างผู้หญิงที่สำรวจครั้งนี้ ร้อยละ 78 อายุ 20 ปีขึ้นไป 1 ใน 4 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีร้อยละ 3 ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ร้อยละ 41ทำธุรกิจส่วนตัว ไม่มีงานทำ ว่างงานร้อยละ 2 โดยร้อยละ 64 มีรายได้มากกว่า 20,000บาทต่อเดือน ร้อยละ 11 มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 10,000บาท โดยมีสภาพโสด ร้อยละ 31 สมรส/แต่งงานแล้งร้อยละ 59 เป็นหม้าย /หย่าร้าง/แยกกันอยู่ร้อยละ 10 ร้อยละ 37 ยังไม่มีบุตร ร้อยละ 46 มีบุตร 1-2 คน และร้อยละ 17 มีบุตรมากกว่า 2 คน โดยร้อยละ 11 มีที่อยู่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด
**************************************** 5 พฤศจิกายน 2555