วันนี้ (18 ตุลาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม และนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมได้เปิดเครื่องจักรทดสอบการผลิตยาแคปซูลรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย หรือยาคลินดามัยซิน แคปซูล (clindamycin capsule) ที่โรงงานผลิตยารังสิตขององค์การเภสัชกรรมถ.รังสิต-นครนายก คลอง 10 จ.ปทุมธานี

        นายวิทยา กล่าวว่า โรงงานผลิตยารังสิตขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) แห่งใหม่นี้ สร้างบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ซึ่งเป็นโรงงานที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย สร้างตามแบบมาตรฐานสากล มีสายการผลิต 4 สาย สามารถผลิตยาเม็ดและแคปซูลได้ 49 รายการ เช่น ยารักษาโรคติดเชื้อ ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาโรคความดันโลหิตสูง ยาลดไขมัน และยาโรคเบาหวาน โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 5,000 ล้านเม็ดต่อปี คิดเป็นมูลค่าการจำหน่ายประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อรองรับการใช้ภายในประเทศและหากเพียงพอก็สามารถส่งออกต่างประเทศได้  โดยจะเปิดเดินเครื่องการผลิตยาครบทั้ง 4 สายการผลิต ภายในปลายปี 2555 นี้

        นายวิทยากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา อภ.มีมูลค่าการส่งออกยาไปต่างประเทศเพียงปีละ 27 ล้านบาท จึงได้มอบนโยบายให้ อภ. ผลิตยาให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีภูมิภาคเอเชีย (GMP PIC/S) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมาตรฐานในระดับสากลได้แก่ จีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลก (WHO GMP) และมาตรฐานจีเอ็มพีของยุโรป (EU GMP) เพื่อขยายตลาดส่งออกยาไปยังต่างประเทศ ซึ่ง อภ.ได้ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เพื่อเป็นการรองรับการค้าเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยก่อนหน้านี้ได้จำหน่ายยาไปยังไนจีเรีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา ภูฏาน เยเมน หมู่เกาะโซโลมอน ฟิจิ ตองก้า ปาปัวนิวกินี และมีโครงการขยายตลาดสู่ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

        ด้านนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ ประกอบด้วย 3 อาคารใหญ่ ได้แก่ อาคารผลิตยา อาคารสนับสนุนการผลิต และอาคารอำนวยการ เป็นโรงงานแห่งแรกที่มีระบบควบคุมการผลิต ควบคุมคุณภาพ และบริหารจัดการงานคลัง โดยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ เป็นโรงงานระบบปิด มีการผลิตครบวงจรภายในตัวอาคาร มีระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งช่วยทำให้ประหยัดพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิต ลดขั้นตอน และลดจำนวนบุคลากรในการบริหารงานคลัง พร้อมมีระบบบำบัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตโดยไม่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก และมีการจัดพื้นที่ปลูกต้นไม้บริเวณโดยรอบในลักษณะของโรงงานสีเขียวเพื่อเว้นระยะห่างจากชุมชนใกล้เคียง นอกจากนี้ได้เปิดให้โรงงานนี้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และศึกษาดูงานของหน่วยงาน บุคลากรและนักศึกษาทางด้านการสาธารณสุข การแพทย์ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจงานด้านการวิจัยพัฒนาการผลิตยาเพื่องานสาธารณสุขของประเทศ  

        ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมได้มีโครงการขยายกำลังผลิต โดยจะย้ายส่วนการผลิตทั้งหมดจากโรงงานพระรามที่ 6 เขตราชเทวี มายังพื้นที่เดียวกับโรงงานผลิตยารังสิต ล่าสุดได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี นายแพทย์วิทิต กล่าวในตอนท้าย  

    ****************  18 ตุลาคม 2555

 



   
   


View 10    18/10/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ