วันนี้(12 ตุลาคม 2555)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกับ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หารือความร่วมมือด้านการวิจัยเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข และความเป็นไปได้ในการขยายผลงานนวตกรรมต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ มาใช้ในงานการแพทย์และสาธารณสุข

          นายวิทยากล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงวิทย์ฯและกระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนกัน เนื่องจากมีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้พัฒนา และคิดว่ามีประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย เช่น เครื่องมือแพทย์  อุปกรณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ของไทยได้วิจัย พัฒนาและผลิตจนประสบความสำเร็จ จึงอยากให้มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยมาสู่การใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน   

โครงการด้านการแพทย์ที่กระทรวงวิทย์ฯ ดำเนินการสำเร็จแล้ว มี 5 โครงการ ได้แก่ 1.เครื่องเอ๊กซเรย์ศีรษะด้วยคอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติ เป็นเครื่องแรกในประเทศไทย เพื่อใช้ในงานทันตกรรม ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคบริเวณช่องปาก กระดูกบริเวณใบหน้าได้แม่นยำขึ้น ราคาเครื่องละ 5 ล้านกว่าบาท ถูกกว่าต่างประเทศที่มีราคาเครื่องละ 10 ล้านบาท 2.แผ่นดามกระดูกสำหรับใช้ปิดกระโหลกศีรษะ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการรักษาได้ 5-6 ขั้นตอน 3.สกรูที่ใช้ยึดกะโหลกศีรษะทำจากวัสดุธรรมชาติ สลายได้เองโดยไม่ต้องผ่าตัดออก 4.ข้อเข่าเทียมแบบ 4 จุดหมุน และ 5.เครื่องช่วยฟังดิจิตอล  

นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้ขอให้กระทรวงวิทย์ฯ ช่วยพัฒนาชุดทดสอบสารเคมีในแหล่งน้ำที่เกษตรกรใช้ในการทำการเกษตรเช่นผักสวนครัวว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ โดยทำเป็นชุดทดสอบอย่างง่าย รู้ผลได้ทันที เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออก ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงทั้ง 2 กระทรวง หารือในรายละเอียดทางเทคนิค และจัดทำเป็นแผนดำเนินการร่วมกัน เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

         ด้านดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยมี 2 สาขาที่เก่งเท่าเทียมหรืออาจเก่งกว่าต่างชาติ คือด้านการแพทย์ และด้านการเกษตร เหตุผลการหารือในวันนี้คือผู้ที่ประกอบวิชาชีพทางด้านการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ต้องมารวมตัวกันเป็นทีมเวิร์คของประเทศไทย โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้บอกปัญหาและความต้องการใช้เทคโนโลยี ส่วนกระทรวงวิทย์ฯซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ จะเป็นผู้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือให้ เมื่อสำเร็จแล้วต้องช่วยกันนำเข้าไปสู่ระบบการผลิตให้ได้ เพื่อให้เป็นธุรกิจของประเทศ  ซึ่งที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ทั้งในกระทรวงวิทย์ฯ หรือภาคเอกชนมีการคิดค้นเทคโนโลยีออกมามากมาย แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ กระทรวงวิทย์ฯจึงหารือกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจับมือและจะมีการเซ็นต์สัญญาร่วมกันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และจัดทำเป็นโครงการร่วมทำงานวิจัยและผลิตอุปกรณ์ด้านการแพทย์ในประเทศไทย โดยคนไทย และจะส่งขายต่างประเทศในอนาคตด้วย โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป หากทำสำเร็จคนไทยจะอายุยืนขึ้นไปอีก                                                   

ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประมาณ 100 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 800 กว่าแห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต.ประมาณ 10,000 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับเทคโนโลยีที่กระทรวงวิทย์ฯจะผลิตในอนาคต ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ จะต้องมีการประเมินจากคณะกรรมการ 2 ส่วนประกอบกัน คือ 1.ด้านความคุ้มค่าของเทคโนโลยี กับสภาพปัญหาและผลกระทบต่อประชาชน และ2.คณะกรรมการกลั่นกรองประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้เครื่องมือโดยตรง ในการร่วมมือกันครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงวิทย์ฯเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาและประเมินการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาสุขภาพประชาชน  

ตุลาคม2/6-7 ******************************** 12 ตุลาคม 2555




   
   


View 11    12/10/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ