รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานพยาบาลในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงพายุแกมีทุกแห่งปลอดภัย สามารถเปิดให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ผ่านมายังปฏิบัติการทุกวัน จนถึงวันนี้มีสะสมกว่า 57,000 ราย ส่วนใหญ่น้ำกัดเท้า ไม่มีรายใดรุนแรง  ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขแนะประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะลงถุงพลาสติกหรือถุงดำ ปิดปากถุงให้มิดชิด เพื่อลดความสกปรกน้ำท่วมขัง ป้องกันโรคระบาดที่มากับน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง

          นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า จากการติดตามประเมินผลกระทบจากพายุแกมีจนถึงวันนี้ สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สามารถเปิดให้บริการตามปกติ และได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการในพื้นที่ประสบภัยทุกวัน ซึ่งขณะนี้มี 10 จังหวัด ได้ออกบริการ 404 ครั้ง มีผู้ป่วยรับบริการ 57,074 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไม่มีรายใดมีอาการรุนแรง และมีทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่อยู่ตามบ้านเรือน  เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมเกือบ 10,000 ราย  ส่วนด้านสุขภาพจิตขณะนี้ตรวจคัดกรองเพื่อให้การดูแลผู้ที่มีปัญหาแล้วกว่า 10,000 ราย ในจำนวนนี้พบว่ามีความเครียด ความวิตกกังวลอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ 44 ราย

          นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมวางแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งสถานที่สาธารณะ ตลาดสด โรงเรียน และบ้านเรือนประชาชน ตรวจคุณภาพน้ำและอาหารให้ปลอดภัยทั้งหมด และให้ป้องกันควบคุมโรคระบาดหลังน้ำลด เช่น โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู อย่างน้อย 2 สัปดาห์

          ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วอร์รูมน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามสภาพปัญหาการเจ็บป่วยในพื้นที่น้ำท่วม เริ่มพบมีผู้ป่วยอุจจาระร่วงประปราย ประมาณ 2,000 ราย ซึ่งยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน โรคดังกล่าวเป็นสัญญาณแสดงถึงปัญหาการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำและอาหาร ดังนั้นเพื่อลดปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดโรค ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันลดความสกปรกของน้ำที่ท่วมขัง ทั้งสถานที่สาธารณะและตามบ้านเรือน โดยทิ้งขยะลงในถุงพลาสติกหรือถุงดำ และมัดปากถุงให้มิดชิด อย่าทิ้งขยะลงน้ำ โดยเฉพาะขยะเปียก ประการสำคัญไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำเน่าเสีย เพิ่มสิ่งปนเปื้อนในน้ำเพิ่มขึ้น อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ นอกจากนี้ ให้ยึดหลัก กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ และควรกินน้ำบรรจุขวดหรือน้ำต้มสุก ก็จะปลอดภัยจากโรคติดต่อที่มากับน้ำและอาหารปนเปื้อน 

 *******************************  9 ตุลาคม 2555



   
   


View 13    09/10/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ