รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งในพื้นที่เสี่ยงพร้อมรับมือพายุแกมี จัดทีมแพทย์กู้ชีพ รถพยาบาล ห้องฉุกเฉิน ระบบการสื่อสาร พร้อมปฏิบัติการตลอด  24 ชั่วโมง ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยได้วางระบบการดูแลพื้นที่น้ำท่วม พร้อมเสริมกำลังเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ใกล้เคียงดูแลประชาชนเต็มที่ ส่วนผลจากน้ำท่วมที่ผ่านมามีผู้ป่วยสะสม  54,768  ราย เสียชีวิต 18 รายเกือบร้อยละ  90 จากเหตุจมน้ำ ไม่มีโรคระบาด

                นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขรับมือจากพายุแกมีว่า ได้ให้โรงพยาบาลในพื้นเสี่ยงเตรียมพร้อมทั้งด้านการป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล ห้องฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยได้ตลอดเวลา เตรียมระบบการสื่อสารสำรองหากระบบโทรศัพท์ปกติใช้การไม่ได้ และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเฝ้าระวังสถานการณ์พร้อมระดมทรัพยากรการช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บหากมีเหตุการณ์รุนแรงหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง   ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุหรือป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 ทันที ได้รับรายงานว่าขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งสามารถบริการได้ตามปกติ  
 
                ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขหรือวอร์รูม ได้วางระบบรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติไว้แล้วทั้งระดับพื้นที่  มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บัญชาการ ทำงานประสานกับวอร์มรูมส่วนกลางเชื่อมโยงกับของรัฐบาล โดยหากกำลังแพทย์ในพื้นที่ไม่เพียงพอ ผู้ตรวจราชการสามารถระดมหน่วยแพทย์จากพื้นที่ในรัศมีใกล้เคียงและรอบนอกเสริมกำลังได้ตลอดเวลา 
 
              ทั้งนี้ ได้ให้โรงพยาบาลที่เสี่ยงน้ำท่วมโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เช่นที่โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี วางระบบป้องกันตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขคือ เสริมทำนบกั้นน้ำรอบโรงพยาบาล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ  7 ตัว และยกเครื่องสำรองไฟฟ้าในโรงพยาบาลรวมทั้งคลังยา เครื่องมืออื่นๆไว้ในที่สูง สามารถให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง หากน้ำท่วมสูงก็สามารถเปิดให้บริการที่ชั้น  2 ได้เลย และยังได้สำรองยาเวชภัณฑ์ให้พอใช้  4 เดือน นอกจากนี้ได้จัดเตรียมพาหนะสำหรับทีมแพทย์สนามฉุกเฉิน ใช้ออกให้บริการผู้ป่วยเช่นเรือท้องแบน รถยกสูง เตรียมระบบการส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลค่ายจักรพงษ์ และให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง  
 
              นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลจากน้ำท่วมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีผู้เสียชีวิต 18 ราย เกือบร้อยละ 90 จมน้ำ ประกอบด้วยแม่ฮ่องสอน ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ฉะเชิงเทรา 3 ราย สุพรรณบุรี 3 ราย ปราจีนบุรี 9 ราย ได้ออกบริการแล้วกว่า 300 ครั้ง จำนวนผู้ป่วยสะสมรวม  54,768 ราย ส่วนใหญ่น้ำกัดเท้า ปวดศีรษะ ทุกพื้นที่ไม่มีโรคระบาด จัดทีมออกเยี่ยมดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่นผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้พิการ รวมทั้งผู้ป่วยโรคจิตรวมกว่า 9,500 ราย เพื่อให้ได้รับยาต่อเนื่อง ติดตามสุขภาพป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน และเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจิตประชาชนได้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงไปแล้ว 11,396 ราย พบผู้ที่มีความเครียดสูง เช่นนอนไม่หลับ ใจสั่น จำนวน 138 ราย มีอาการซึมเศร้า 85 ราย ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของจิตแพทย์กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอย่างใกล้ชิด     
                 
*********************************          7 ตุลาคม 2555


   
   


View 12    07/10/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ