เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง รายงานการตรวจสอบของสตง.ต่อการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้รับบริการตามมาตรา 41  ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)

        นายวิทยา.กล่าวว่า สืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจสอบเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องรายงานการตรวจสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีข้อเสนอแนะ 3ประเด็น คือ ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทบทวนการแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1ตุลาคม 2555 ประการที่ 2 ขอให้กำหนดกระบวนการหรือแนวทางดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 42 และประการที่ 3 ขอให้กำหนดมาตรการ เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด พิจารณาดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในข้อบังคับฯ

             นายวิทยากล่าวว่า    สตง.มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 3 ประเด็นกล่าวคือ ประเด็นแรก 1.ขอให้คณะกรรมการหลักทบทวนการแก้ไขข้อบังคับที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ซึ่ง สตง.เห็นว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง คือ บางรายการอัตราขั้นต่ำสูงกว่าอัตราขั้นสูงของข้อบังคับฯเดิม และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการเยียวยาเบื้องต้น มิใช่การจ่ายเงินเพื่อชดเชยความเสียหาย 2.ขอให้กำหนดกระบวนการหรือแนวทางดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 42 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจในวิธีการดำเนินการไล่เบี้ยเอาแก่ผู้กระทำผิด กรณีที่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว โดยนำเอาพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ตามควรแก่กรณีและ 3.ขอให้กำหนดมาตรการเพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัดพิจารณาดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในข้อบังคับ
              รัฐมนตรีว่าการฯกล่าวว่า   ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวและความคิดเห็นของสตง.นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติยืนยันให้ใช้ข้อบังคับฯใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55 ต่อไปกรณีว่าที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้รับบริการกับผู้ให้บริการ ในการบังคับใช้ มาตรา 42 นั้นให้ยึดหลักการ “การช่วยเหลือฯที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด” เหมือนเดิม และกรณีการพัฒนาระบบการพิจารณาของคณะอนุฯจังหวัดนั้นให้ สปสช.ประสานกับคณะกรรมการควบคุมฯ พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอของ สตง. โดยศึกษาทำความเข้าใจข้อบังคับฯ และให้มีผู้เชี่ยวชาญ/ที่ปรึกษา ร่วมในการพิจารณา รวมทั้งมีระบบการตรวจสอบ ติดตาม กำกับดูแลการพิจารณา
             ทั้งนี้ มติดังกล่าว 1.กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3.กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ ไม่เกิน 100,000 บาท 
****************** 1 ตุลาคม 2555


   
   


View 12    01/10/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ