คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรไทย เตรียมเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยขณะนี้วัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 15-16 ปี มีปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ติดเชื้อกามโรคเพิ่มขึ้น ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีบริการให้ความรู้ การให้คำปรึกษา การบำบัดรักษา และช่วยเหลือ 8 รายการ อาทิ อนามัยการเจริญพันธุ์และเพศศึกษา การวางแผนครอบครัว การมีบุตรยาก อนามัยแม่และเด็ก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ มะเร็ง การแท้งและภาวะแทรกซ้อน และสุขภาพวัยทอง   

          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาคุณภาพประชากรไทย ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรไทยทุกกลุ่มอายุ ซึ่งปัจจุบันไทยประสบปัญหาทั้งด้านจำนวนและคุณภาพประชากร โดยโครงสร้างประชากรมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากประสบผลสำเร็จในการวางแผนครอบครัวตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ทำให้มีอัตราเพิ่มประชากรลดลง  ล่าสุดในปี 2553 มีเพียงร้อยละ 0.5 หญิงไทยมีบุตรโดยเฉลี่ย 1.5 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราทดแทนคือพ่อแม่รวม 2 คน ทำให้ประชากรวัยแรงงานมีจำนวนน้อยลง ในอนาคตอาจจะต้องนำเข้าแรงงานที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน ในขณะเดียวกันประชากรสูงอายุกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น และก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 12 ของประชากรทั้งประเทศ     
 
           ประการสำคัญยังมีปัญหาคุณภาพวัยรุ่นที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต จากพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศที่ไม่ได้ป้องกัน เนื่องจากวัยรุ่นไทยในปัจจุบันมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากอายุ 18-19 ปี ในพ.ศ. 2539 เป็นอายุ 15-16 ปี ในพ.ศ.2552 อัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เพิ่มจาก 50.3 ในพ.ศ. 2548 เป็น 54.9 ต่อกลุ่มหญิงอายุ 15-19 ปีทุกๆ 1,000 คน ในปี 2554 วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกใช้ถุงยางอนามัยไม่ถึงร้อยละ 40 ทำให้อัตราป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชนอายุ 15-24 ปีสูงขึ้นจาก 23.5 ในพ.ศ. 2545 เป็น 79.8 ต่อประชากรวัยนี้ทุก 1 แสนคน ในพ.ศ. 2553ต้นเหตุปัญหามาจากขาดความรู้ เช่นความเข้าใจผิดคิดว่าร่วมเพศครั้งเดียวไม่ตั้งครรภ์ การใช้ถุงยางอนามัยขัดขวางความรู้สึกทางเพศ เป็นต้น 
 
          นายวิทยากล่าวต่อว่า ขณะนี้ คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรก ที่จะทำให้ระบบบริการในเชิงส่งเสริมด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของไทยครบถ้วน มีบริการคุณภาพในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน การให้ความรู้ในสถานศึกษา หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือสถานประกอบการอย่างกว้างขวาง โดยมี 5 หมวด รวม 31 มาตรา ซึ่งในจำนวนนี้มีหมวดการให้บริการ ประกอบด้วยการให้ความรู้ การให้คำปรึกษา การบำบัดรักษา การส่งต่อและการช่วยเหลือ 9 เรื่อง ได้แก่ 1.ข้อมูลข่าวสารอนามัยการเจริญพันธุ์และเพศศึกษา 2.การวางแผนครอบครัวทั้งชายและหญิง 3.ภาวะการมีบุตรยาก ซึ่งจะพัฒนาผู้ให้บริการให้มีความรู้และความสามารถในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการมีบุตรตามมาตรฐาน 4.อนามัยแม่และเด็ก ซึ่งได้กำหนดให้สถานศึกษาที่มีเด็กนักเรียนตั้งครรภ์ ได้เรียนต่อ หน่วยงานรัฐต้องไม่ขัดขวางการลาคลอดและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 5.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ 6.โรคมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ 7.การแท้งและภาวะแทรกซ้อน กำหนดให้จัดบริการปรึกษาทางเลือกแก่หญิงที่ตั้งครรภ์ขณะนี้ยังไม่พร้อม และระบบการส่งต่อที่เหมาะสม 8.การดูแลสุขภาพวัยทอง และ 9.บริการอื่นๆตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะนำเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเห็นชอบ และนำเข้าให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบและประกาศเป็นกฏหมายต่อไป
 
********* 30กันยายน 55


   
   


View 11    30/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ