ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งทุกจังหวัดเพิ่ม 4 มาตรการ ดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินอย่างเข้มงวด พร้อมให้กองการประกอบโรคศิลปะทำหนังสือถึงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 346 แห่ง ไม่ให้มีพฤติกรรมจ่ายเงินให้หน่วยกู้ภัย หากพบหน่วยไหนรับเงินหรือไม่ปฏิบัติตามให้ถอนออกจากการเป็นหน่วยกู้ชีพทันที
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยที่จะสร้างมาตรฐานระบบการช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท ให้ได้รับบริการอย่างมีมาตรฐานปลอดภัยในชีวิตมากที่สุด เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งในระหว่างที่รอการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบให้ได้มาตรฐาน ที่สำคัญ 3 ส่วน คือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานกู้ชีพ ซึ่งมีทั้งบุคลากรภาครัฐและจากมูลนิธิกู้ภัยภาคเอกชน รถพยาบาลและเครื่องมือ อุปกรณ์ขนย้ายผู้ป่วยผู้บาดเจ็บ และสถานพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งอาจเป็นทั้งเครือข่ายกู้ชีพ และเป็นสถานพยาบาลให้การรักษาผู้ป่วยผู้บาดเจ็บ จะต้องได้มาตรฐานทั้งหมด
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า จากการที่มีข่าวว่ามีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่กู้ภัย โดยเฉพาะในกรณีนำผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรไปส่งให้ ซึ่งบางแห่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่หรืออยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ แต่หน่วยกู้ชีพที่ต้องการเงิน จะนำผู้บาดเจ็บตระเวนไปส่งยังโรงพยาบาลที่จ่ายเงินให้ ทำให้เกิดการสูญเสียขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตก่อนที่จะนำส่งถึงแพทย์ หรือเกิดความพิการแทรกซ้อนตามมาภายหลังได้
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ให้กรมสนับสนุนบริการ สุขภาพ โดยกองการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกำกับการทำงานของโรงพยาบาลเอกชน ทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งมี 346 แห่ง ขอให้กำกับตรวจสอบ ดูแล ป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมจ่ายเงินหน่วยกู้ภัยเมื่อนำผู้บาดเจ็บมาส่ง โดยต้องให้คำนึงถึงชีวิตความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก
พร้อมกันนี้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ ดำเนิน 4 มาตรการ ดังนี้ 1.ให้สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำจังหวัด ทำการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการทุก 1 ปี 2.มีการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคลากรประจำหน่วยบริการ วุฒิการศึกษา รถ รวมทั้งอุปกรณ์ประจำรถพยาบาลให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด 3.ให้ทุกจังหวัดจัดทำเขตและตรวจสอบการรับส่ง ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด ภายใต้การสั่งการของศูนย์รับแจ้งเหตุประจำจังหวัด และ 4.หากหน่วยบริการใดมีการกระทำ แสดงให้เห็นถึงการรับผลประโยชน์จากการรับส่งผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลเอกชน ให้เพิกถอนออกจากการเป็นหน่วยบริการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทันที
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวในตอนท้ายว่า จากการประเมินระบบการแพทย์ฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2550 พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 426 ราย โดยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 236 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 เสียชีวิตในโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ 69 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉิน 49 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 เสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 เสียชีวิตในตึกผู้ป่วยหลังเกิดเหตุ 24 ชั่วโมงถึง 30 วัน 28 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และเสียชีวิตระหว่างส่งผู้ป่วยต่อไปรักษายังโรงพยาบาลแห่งอื่น 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 ซึ่งสาเหตุจากการเสียชีวิตที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นหรือควรให้เกิดน้อยที่สุดคือ การเสียชีวิตระหว่างนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล
*************** 30 เมษายน 2550
View 15
30/04/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ