นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าของการดำเนินการกวาดล้างหมอเถื่อนหลัง มีหมอเถื่อนฉีดสารคอลลาเจนให้น้องกระแต อายุ 33 ปี จนหมดสติ สมองขาดออกซิเจน จนเป็นเจ้าหญิงนิทรา เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังสถานพยาบาล เสริมความงามมาอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาตรวจไปประมาณ 300 กว่าแห่ง แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระแสคนรักสวยรักงามมากขึ้น คลินิกประเภทนี้จึงมีมากขึ้น ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานความงามตามศูนย์การค้าต่างๆ หรือบริเวณย่านชุมชนหนาแน่นอย่างใกล้ชิดและเข้มข้น ซึ่งการเปิดสามารถเปิดได้แต่ต้องมีแพทย์ผู้ชำนาญการดำเนินการ รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามกวาดล้าง การโฆษณาชวนเชื่อทางเว็บไซต์ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการเสริมความงาม เช่นเดียวกับการปราบเว็บไซต์เถื่อน เพราะวัยรุ่นนิยมดูกันมากดูได้ตลอด 24ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้ให้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมการโฆษณาบางอย่างผ่านทางสื่อที่มีผลกระทบสูงเช่น ทีวี หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะการโฆษณาเสริมความงาม จะต้องได้รับอนุญาตก่อนที่ออกเผยแพร่สู่ประชาชน

       นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดประชุมผู้ประกอบการคลินิก เสริมความงามทั่วประเทศ ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีประมาณ 500 แห่ง เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจ ถึงแนวทางมาตรการต่างๆ กฎกติกา เช่นการโฆษณา การให้บริการ การดูแลเครื่องมือตามมาตรฐาน ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ หลังจากนั้นจึงจะใช้มาตรการทางกฎหมาย ตรวจสอบและหากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีโดยไม่ละเว้นใดๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

          สำหรับกรณีของหมอป็อปที่ฉีดสารคอลลลาเจนให้น้องกระแต วันนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตรวจสอบทั้งเรื่องยาที่ใช้ฉีดว่าเป็นยาอะไร สถานที่ฉีด จะขยายผลถึงแหล่งที่มาของยาฉีดและคลินิกเถื่อนในลักษณะเดียวกันต่อไปอีก ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะมีข้อมูลเชิงลับที่มีคนร้องเรียนมาอยู่แล้ว     
          ทางด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับคลินิกเอกชนในกทม. ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องไว้กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีทั้งหมด 4,000 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นคลินิกประเภทเสริมความงาม ประมาณ 500 แห่ง ในปีที่ผ่านมาได้สุ่มตรวจและปรับปรุงไปแล้ว 350 แห่ง และปราบปรามดำเนินคดีคลินิกที่ไม่ถูกต้อง จำนวน 14 คดี ส่วนใหญ่เป็นคลินิกเสริมความงาม ลดน้ำหนัก ศัลยกรรมตกแต่ง ดูแลผิวพรรณ ทำแท้งเถื่อน และหมอเถื่อน ในปี 2555 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - กันยายนได้ตรวจสอบเฝ้าระวังคลินิกต่างๆ จำนวน 200 แห่ง  และดำเนินคดีแล้ว 20 คดี ประกอบด้วย คลินิกศัลยกรรมเถื่อน 4 คดี คลินิกทำแท้งเถื่อน 3 คดี และเป็นหมอเถื่อนอีก 13 คดี และพบคลินิกกระทำผิดกฎหมาย 20 แห่ง ประกอบด้วยคลิกนิกขอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายสถานพยาบาล แต่ไม่มีแพทย์ประจำการ จำนวน 14 แห่ง ที่เหลืออีก 6 แห่ง เป็นคลินิกเถื่อนเนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตเปิดดำเนินการ
          นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อไปอีกว่า โทษของคดีศัลยกรรมเถื่อนตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มี 3 ข้อหา คือ 1.ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.หมอเถื่อนมีอัตราโทษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 จำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ3.ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
          ส่วนโทษคลินิกเถื่อน มี 2 ข้อหา คือ 1. ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ2.ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
          และโทษของหมอเถื่อน มีความผิด 3 ข้อหา คือ 1.ประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ3.ปลอมแปลงใบรับรองแพทย์ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 264 โทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
******************************* 21 กันยายน 2555


   
   


View 8    21/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ