รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยคนไทย 1 ใน 5 มีปัญหาสุขภาพจิต ในจำนวนนี้มีผู้ป่วย ที่มีอาการทางจิต 2,000 คนถูกกักขังหรือโดนล่ามโซ่ไว้ที่บ้าน เร่งให้ความช่วยเหลือปลดโซ่ตรวนให้ผู้ป่วยจิตเวช กลับคืนสู่สังคม พร้อมปรับงานบริการผู้ป่วยจิตเวช ขยายงานดูแลติดตามลงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง  

       วันนี้ (14 กันยายน 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม “โครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง : สู่ชีวิตใหม่ในชุมชน” ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา ว่า จากการสำรวจปัญหาด้านสุขภาพจิตล่าสุดของกรมสุขภาพจิต พบประชากรไทยร้อยละ 20 หรือประมาณ  1 ใน 5  มีปัญหาสุขภาพจิต และพบผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตหรือป่วยเป็นโรคทาง จิตเวชประมาณร้อยละ 2 เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคจิตจากการใช้สารเสพติด โรคสมองเสื่อม โรคลมชักและโรคสมาธิสั้น เป็นต้น
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยที่ป่วยทางจิตจะขาดความสนใจในการดูแลตนเอง และเป็นภาระของ ญาติ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับตนเองและผู้อื่น ทำให้ญาติต้องใช้วิธีการล่ามขังผู้ป่วย  ซึ่งจากการสำรวจทั่วประเทศพบผู้ป่วยจิตเวชทุกกลุ่มอายุที่ถูกล่ามหรือกักขังที่บ้าน ประมาณ 2,000 คน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยและคนในสังคม เกิดความรู้สึกไม่ใช่คน ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพ เสื่อมถอย ขาดโอกาสต่างๆในสังคม ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำโครงการปลดโซ่ตรวนขึ้น เพื่อค้นหา ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขังในชุมชน นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟูตามมาตรฐาน รวมทั้งฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถอยู่ได้อย่างอิสระ ไม่ถูกล่ามขังและดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ ระยะเวลาในการดำเนินการ 7 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2555 ถึง 30 กันยายน 2555 ขณะเดียวกันในปี 2556 นี้ มีนโยบาย ให้ขยายบริการงานสุขภาพจิตลงสูชุมชน โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. มีการติดตาม ผลการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาการขาดยาและอาการกำเริบ    ซึ่งขณะนี้ได้จัดอบรมความพร้อม เจ้าหน้าที่ไปแล้ว   
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการดำเนินงานตั้งแต่ 1 มีนาคม 2555 ถึง 30 สิงหาคม 2555 พบผู้ป่วยที่ถูกล่ามขัง และนำเข้าโครงการฯ เพื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ จำนวนทั้งสิ้น 415 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ 83 คน  ภาคตะวันออก 5 คน  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 171 คน  ภาคกลาง 47 คน และภาคใต้ 109 คน ทั้งหมดนี้ ได้รับการบำบัด มีสภาพจิตใจดีขึ้น สามารถปลดโซ่ตรวน และดำเนินชีวิตในชุมชน ไม่ถูกล่ามขังซ้ำจำนวน 127 คน  ในส่วนของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล พัทลุง และตรัง มีผู้ป่วยที่ถูกล่ามขังทั้งสิ้น 94 คน  บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพสำเร็จ ผู้ป่วยไม่ต้องถูกล่ามขังซ้ำจำนวน 31 คน
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคทางจิตเวชในชุมชน จะเน้น 3 มิติ ประกอบกัน ได้แก่ 1.มิติด้านผู้ป่วย เน้น “ยาถึง พึ่งตนเอง”  จะให้ความรู้ความเข้าใจต่อการเจ็บป่วย  การกินยาอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังป้องกันอาการกำเริบ 2. มิติด้านผู้ดูแล คือการทำความเข้าใจกับผู้ดูแลให้เข้าใจการเจ็บป่วยทางจิตว่า จำเป็นต้องได้รับการรักษา เรียนรู้ทักษะในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งดูแลจิตใจตนเองไม่ให้เครียด การหาแหล่งช่วยเหลือทางสังคม และปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อหลีกเลี่ยงการล่ามขังผู้ป่วย และมิติที่ 3 คือ ด้านชุมชน ทำความเข้าใจกับชุมชนให้ยอมรับ เข้าใจและเห็นใจผู้ป่วย ว่าไม่ใช่คนบ้า แต่เป็นคนที่มีความผิดปกติทางจิต มองว่าการล่ามขังเป็นปัญหาของชุมชน  และจะเป็นปัญหากับผู้ป่วยทวีคูณ ต้องให้ความช่วยเหลือต่างๆ ในการ ดำเนินชีวิต เพื่อแบ่งเบาภาระของญาติในการดูแลผู้ป่วย
************************************ 14 กันยายน 2555
 


   
   


View 8    14/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ