อาจารย์พยาบาลวิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรีและคณะ เสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2550 ของสถาบันพระบรมราชชนก ค้นพบวิธีลดอาการเจ็บปวดระหว่างคลอด โดยใช้เม็ดแม่เหล็กกดจุดที่หู ได้ผลดี น่าทึ่งและเป็นครั้งแรกของไทย ทำให้อาการปวดน้อยลง การคลอดเป็นไปตามปกติ ไม่มีผลแทรกซ้อน ไม่กระทบต่อเด็ก เป็นข่าวดีของหญิงตั้งครรภ์ไม่ต้องกลัวเจ็บอีกต่อไปแล้ว
เช้าวันนี้(25 เมษายน 2550)ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2550 เรื่อง จากงานประจำสู่งานวิจัย จัดโดยสถาบัน พระบรมราชชนก ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้จากงานประจำ จากประสบการณ์ การวิจัยมาประยุกต์ใช้ในงานการเรียนการสอนนักศึกษาพยาบาล และพัฒนาบริการการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก โดยมีอาจารย์พยาบาล นักวิชาการจากโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุข มหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม กว่า 800 คน มีผลงานวิจัยนำเสนอ 205 เรื่อง นำเสนอด้วยการบรรยาย 97 เรื่อง นำเสนอด้วยโปสเตอร์ 103 เรื่อง และนวัตกรรมทางการพยาบาลและสาธารณสุข จำนวน 15 เรื่อง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน 2550 ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ในการนำเสนองานวิจัยครั้งนี้ ทีมอาจารย์รตินันท์ เกียรติมาลา อาจารย์ประจำวิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี นายแพทย์วิเชียรชัย ผดุงเกียรติวงษ์และคุณบุษยรัตน์ เขียวหวานซึ่งเป็นแพทย์และพยาบาลประจำโรงพยาบาลพระจอมเกล้าได้นำเสนอผลการวิจัย เรื่อง การใช้เม็ดแม่เหล็กกดจุดบน ใบหู เพื่อลดอาการเจ็บปวดของหญิงระหว่างคลอดบุตร ศึกษาในปี 2549 ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมาก และเกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของแม่และเด็ก ซึ่งต่อปีมีหญิงไทยตั้งครรภ์และคลอดบุตรปีละ 800,000 คน หรือคลอดนาทีละเกือบ 2 คน ซึ่งการเจ็บปวดระหว่างคลอดบุตร เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้คลอดกลัวการคลอดและเกิดความเครียด และเมื่อเกิดอาการเครียดก็จะส่งผลให้เลือดไหลเวียนผ่านมดลูกน้อยลง และทำให้มดลูกส่วนล่างมี การหดรัดตัวมากขึ้น ทำให้ความเจ็บปวดมากขึ้น และหากการคลอดเนิ่นนานอาจทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสขาดออกซิเจนได้ โดยการคลอดธรรมชาตินี้เป็นวิธีที่วงการแพทย์ยอมรับว่าดีที่สุดและปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก
ทีมวิจัยได้คิดค้นเทคนิคการบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอดโดยไม่ต้องใช้ยา ซึ่งหลักการนี้ประยุกต์มาจากศาสตร์การฝังเข็มของการแพทย์แผนจีน ที่องค์การอนามัยโลกได้ศึกษารับรองแล้วว่าลดความเจ็บปวดได้ผล สามารถใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยประยุกต์ใช้เม็ดแม่เหล็กซึ่งเป็นวัสดุการแพทย์แผนจีนที่ใช้กดจุดรักษาอาการต่างๆบนใบหูอยู่แล้ว มาใช้กับหญิงที่กำลังเจ็บครรภ์คลอด เพื่อลดความเจ็บปวดในการคลอด พยาบาลที่ดูแลการคลอดปฏิบัติได้เอง ซึ่งจัดว่าเป็นการศึกษาครั้งแรกในประเทศไทย ช่วยให้การคลอดเป็นไปอย่างธรรมชาติ โดยกดจุดบนใบหูของผู้คลอด 4 จุด ของผู้คลอดในระยะที่ปากมดลูกเปิดตั้งแต่ 3 เซนติเมตรขึ้นไป ผลการศึกษากับตัวอย่าง 112 คน พบว่าได้ผลดีมาก ผู้คลอดเจ็บปวดลดลงอย่างเห็นได้ชัด การคลอดเป็นไปตามปกติ ช่วยลดระยะเวลาการคลอด ลดความทุกข์จากการเจ็บปวด และที่สำคัญ ผู้คลอดร้อยละ 73 มีความพึงพอใจต่อการ ติดแม่เหล็กดังกล่าวในระดับมาก สร้างความพอใจให้พยาบาลที่ดูแลในระดับมากเกือบร้อยละ 50
ทางด้านผู้ทำการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า บนใบหูของผู้หญิงจะมีจุดสำคัญอยู่ 4 จุดประกอบด้วยจุดเช็นเม็น (Shenmen) จุดเอ็นโดครายน์ (Endocrine) จุดยูเทอรัส(Uterus) และจุดซีโรพอยท์(Zero point) โดยจุดเช็นเม็น เป็นจุดที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายความเครียดและความเจ็บปวด จุดยูเทอรัส เป็นจุดกระตุ้นให้มดลูกมีการดำเนินการหดรัดตัวไปอย่างปกติ จุดเอ็นโดครายน์เป็นจุดที่ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมน และรักษาระดับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล ส่วนจุดซีโร่ พอยท์ เป็นจุดรักษาสมดุลของระบบต่างๆในร่างกาย ซึ่งการใช้เม็ดแม่เหล็กกดจุดจะทำให้เกิดการกระตุ้นการนำสัญญาณประสาทบนใบหูต่ออวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้อง มีผลทำให้มดลูกหดรัดตัวตามธรรมชาติอย่างสมดุล ทำให้หญิงระหว่างรอคลอดมีอาการเจ็บปวดน้อยลง ไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ และไม่มีผลต่อเด็ก สามารถใช้กับผู้คลอดทุกราย
ผลจากการศึกษาครั้งนี้มีผลดีสามารถปรับจุดสมดุลการหดรัดตัวของมดลูกให้เป็นไปตามปกติและสม่ำเสมอ ทำให้ความก้าวหน้าของการคลอดดีขึ้น แพทย์พยาบาลนำไปใช้ได้เลย และสามารถใช้ในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาพยาบาล ซึ่งต้องผ่านการฝึกการดูแล การทำคลอดทุกรายอยู่แล้ว เป็นเทคนิคช่วยบรรเทาอาการปวดให้หญิงคลอดบุตรโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์แรกซึ่งยังไม่เคยผ่านประสบการณ์การคลอดมาก่อน หรือจัดอบรมเฉพาะทางสำหรับเจ้าหน้าที่ห้องคลอดก็ได้ นอกจากนี้การใช้เม็ดแม่เหล็กกดจุดบนใบหู ยังสามารถบรรเทาอาการปวดรอบเดือนได้ด้วย
เมษายน7/7-8 ***************************** 25 เมษายน 2550
View 16
25/04/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ