นายกรัฐมนตรี เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งที่ 41ตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดมียาเสพติด 12 ชนิด น้ำหนัก กว่า 4,000 กิโลกรัม จาก 1,033 คดี มูลค่ากว่า 6,900ล้านบาท โดยเป็นยาบ้ามากที่สุดถึง 21 ล้านเม็ด ส่วนผลการบำบัดผู้ติดยาเสพติดรอบ 9 เดือนมานี้ บำบัดแล้วกว่า 3 แสนรายจากเป้าหมาย 4 แสนราย ร้อยละ 81 ติดยาบ้า โดย 1 ใน 2 เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 7-24 ปี

วันนี้ (29 มิถุนายน 2555) ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวิทยา บุรณศิริรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุรวิทย์  คนสมบูรณ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารยา (อย.)เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 41ตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ“พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด” โดยมีทูตานุทูต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน
      
  ยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายครั้งนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษของกลางที่เก็บรักษาที่ อย. น้ำหนักรวมทั้งสิ้นกว่า 2,755 กิโลกรัม จาก 1,023 คดีรวมมูลค่า 6,978,188,353.85บาท ประกอบด้วย ยาเสพติด 12ชนิด ได้แก่1.แอมเฟตามีนหรือยาบ้าจำนวน 1,936.40กิโลกรัมหรือประมาณ 21ล้านเม็ด มูลค่า 6,454ล้านบาท  2.เมทแอมเฟตามีนหรือยาไอซ์ 147.92 กิโลกรัม มูลค่า 443.78 ล้านบาท 3.เฮโรอีน58.23กิโลกรัม มูลค่า 41.59ล้านบาท4.เอ็มดีเอ็มเอ บวก เอ็มดีเอ (MDMA+MDA) 6.2 กิโลกรัม มูลค่า 24.89 ล้านบาท 5.โคคาอีน 3.98กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 11.9ล้านบาท
 
6.โคเดอีนชนิดน้ำ 592.21กิโลกรัม มูลค่า 1.1ล้านบาท 7.ฝิ่น 5.12 กิโลกรัม มูลค่า 136,598.67 บาท 8.กัญชา 0.1 กิโลกรัมมูลค่า 1,070บาท 9.คีตามีน 1.42 กิโลกรัม มูลค่า 568 บาท 10.มอร์ฟีน0.46 กิโลกรัม 11.ไนเมตราซีแพม 0.03 กิโลกรัม และ 12.ยาอื่นๆ เช่น เฟนิลโพรพาโนลามีนไฮโดรคลอไรด์ 2.94 กิโลกรัม ทั้งนี้กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ได้นำกัญชาของกลางที่ตรวจพิสูจน์แล้ว มาร่วมในการทำลายครั้งนี้ น้ำหนักกัญชาของกลางกว่า 1,324 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 13 ล้านบาท โดยเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอเรชั่น (Pyrolytic Incineration)ซึ่งเป็นการเผาในเตาที่อุณหภูมิความร้อนสูงกว่า 850องศาเซลเซียสทำให้สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิดสลายตัวกลายเป็นเถ้าถ่านทั้งหมดภายในเวลารวดเร็ว ไม่สามารถนำไปใช้ได้อีกไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
     
นายวิทยากล่าวต่อไปว่ารัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติจัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.)ขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วนและตั้งเป้าบำบัดผู้เสพผู้ติดสารเสพติดซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยในปีนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน จากที่คาดว่าน่าจะมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 2 ล้านคน 
 สำหรับปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่ อย.ตรวจรับ พบว่ามีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2553 ตรวจรับ 3,355.64 กิโลกรัม จาก 46,552 คดี  ปี 2554 ตรวจรับ 4,480.49 กิโลกรัม จาก 49,628 คดี  และในปี 2555ยอดถึงเดือนมีนาคม 2555 ตรวจรับกว่า 688,179.59 กิโลกรัมจาก 67,235คดี ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นเมทแอมเฟตามีนประมาณร้อยละ 80  ของยอดคงคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมทแอมเฟตามีนชนิดความบริสุทธิ์สูงหรือที่เรียกว่า ไอซ์ มีปริมาณสูงมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยปัจจุบันพบมีการลักลอบนำสารตั้งต้นที่มียาซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมมาสังเคราะห์เป็นเมทแอมเฟตามีน และกำลังเป็นปัญหาในเรื่องของการควบคุมทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่ง อย. ได้ควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งการส่งออกและนำเข้า รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด เช่น ปปส./บชปส. สกัดกั้นการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง        
   
ทั้งนี้ หลังจากเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งที่ 41 นี้ จะมียาเสพติดให้โทษของกลางที่ยังคงเหลือและเก็บรักษาที่ อย. อีกกว่า 24 ตัน มูลค่ากว่า 72,000 ล้านบาท ซึ่งของกลางที่เก็บรักษาเหล่านี้หากไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลหรือได้ทราบผลการพิพากษาคดีจากศาลชั้นต้นแล้ว ทาง อย. จะนำยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนั้นๆ มาขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกลาง เพื่อขออนุมัติทำลายต่อไป  
 ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาล ทั้งในและนอกสังกัดให้บริการบำบัดฟื้นฟูรวม 1,287 แห่งทั่วประเทศ ผลดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2554– 25 มิถุนายน 2555มีผู้เข้ารับการบำบัด 352,503 คน คิดเป็นร้อยละ 88 ของเป้าหมาย เป็นผู้บำบัดโดยระบบสมัครใจมากที่สุด 231,889 คน รองลงมาคือระบบบังคับบำบัด 109,485  คน และบำบัดในระบบต้องโทษ11,129  คน นอกจากนี้ในปีนี้ยังได้เพิ่มค่ายบำบัดในชุมชนอำเภอละ 1 ศูนย์ฟื้นฟูหรือค่ายบำบัด เป็นบริการเชิงรุกเข้าในชุมชนต่างๆ รวมทั้งหมด 1,266 แห่ง เกินเป้าหมายตั้งไว้ 928 แห่ง และอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.ให้มีความเชี่ยวชาญด้านยาเสพติด จำนวน 66,083 คน เพื่อติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษาและกลับไปอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ให้เลิกเสพยาได้อย่างเด็ดขาด 
 จากการวิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่เข้ารับการบำบัดพบว่า 1ใน 2 เป็นเยาวชน อายุระหว่าง 7-24 ปี จัดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดและอยู่ในวัยเรียน   ร้อยละ 92 เป็นชาย โดยเป็นผู้เสพที่ยังไม่ติดร้อยละ 70 เป็นผู้ติดยาร้อยละ 28 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 2 ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ยาบ้าร้อยละ 81 กัญชาร้อยละ 4 และกระท่อมร้อยละ 3 อาชีพที่ใช้ยาเสพติดมากที่สุดคือรับจ้าง ซึ่งรวมถึงผู้ใช้แรงงานและพนักงานโรงงานร้อยละ 46  รองลงมาคือว่างงานร้อยละ 18  และเกษตรกรร้อยละ 15  
 นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้บริการสายด่วนยาเสพติดหมายเลข 1165 มี 12 คู่สาย เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาเข้าถึงบริการปรึกษาปัญหาตลอด 24 ชั่วโมงมีทั้งบริการสายสดมีเจ้าหน้าที่ตอบคำถาม และระบบข้อความอัตโนมัติ พบว่าได้ผลดี มีผู้ใช้บริการสายสดเฉลี่ยวันละ 50-70 ครั้ง ระบบข้อความวันละ 100 ครั้ง ส่วนใหญ่สอบถามข้อมูลการบำบัด รองลงมาการสังเกตอาการผู้ติดยาเสพติดและการแก้ปัญหาเบื้องต้น ในปี 2554 มีผู้ใช้บริการ 7,251 ครั้ง ในรอบ 6 เดือนในปี 2555 นี้ มีผู้ใช้บริการแล้ว 30,000 ครั้ง   
 
***************************  29 มิถุนายน 2555
 
 


   
   


View 10    29/06/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ