รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขออัตราข้าราชการใหม่ในปี 2555 จำนวน 7,521 อัตรา เพื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพที่จ้างทำงาน ตั้งแต่พ.ศ.2549-2550 และเสนอเพิ่มจนถึงปี 2560 พร้อมให้ทบทวนกำลังคนด้านสุขภาพเป็นกรณีพิเศษ เพราะหากขาดแคลนเรื้อรัง ระบบงานเดินไปได้ยาก ประชาชนที่เจ็บป่วยขาดผู้ดูแล เพราะบริการจะเดินได้อย่างมีคุณภาพต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงาน บวกด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
วันนี้ (19 มิถุนายน 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี รับมอบหนังสือการขอบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนของกลุ่มตัวแทนพยาบาลวิชาชีพ ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 25 คน ที่โรงแรมรอยัลคลิป บีช พัทยา ในการประชุมครม.สัญจร ในขณะที่พยาบาลวิชาชีพอีก 2,000 คน รวมตัวกันทำเนียบรัฐบาลเพื่อยืนหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขาดแคลนกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข ว่า
ขณะนี้สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกังวลที่สุด และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นก็คือเรื่องกำลังคนในระบบ ซึ่งมีบุคลากรสายวิชาชีพ 4 สาขาหลักได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และสายสนับสนุนรวมทั้งหมด 21 สายงาน ปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมากถึง 129,458 คน ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ เนื่องจากมติของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ หรือ คปร. ทำให้กระทบต่องานบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอันมาก และแนวโน้มการสูญเสียกำลังคนกลุ่มนี้เป็นไปได้สูง ผลการวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศพบตัวอย่างชัดเจนว่า ลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นพยาบาลวิชาชีพร้อยละ 49 จะลาออกปีแรกที่เริ่มทำงาน และลาออกต่อไปอีกร้อยละ 26 ในปีที่ 2 และแทบจะไม่เหลือเลยหลังปีที่ 5 เพราะขาดความมั่นคง โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดารจะมีการลาออกอย่างรุนแรง เช่นที่น่าน ซึ่งสวนทางกับจำนวนความต้องการการบริการสุขภาพของสายงานที่มีเพิ่มขึ้น หากยังปล่อยสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะมีผลกระทบต่องานบริการผู้เจ็บป่วยแน่นอน เพราะงานบริการคนป่วยเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงาน บวกด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ใช้เทคโนโลยีทดแทนไม่ได้
นายวิทยากล่าวต่อว่า แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจะได้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติการแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนของกระทรวงฯ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การขอกรอบอัตราข้าราชการใหม่ และ 2.การขอปรับเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวจากฐานค่าจ้างเดิมทุกตำแหน่ง สำหรับการขอกรอบอัตราข้าราชการใหม่จะเน้นทั้งระบบทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยระยะเร่งด่วนขอให้เพิ่มตำแหน่งข้าราชการให้กระทรวงฯ เพื่อบรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างปฎิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2549 - 2555 และขอกำหนดกรอบอัตรากำลังคนเป็นรายปี รวมในอีก 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2556-2560 ดังนี้
1.ในปีงบประมาณ 2555 เสนอขอเพื่อบรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่จบการศึกษาตั้งแต่ปี 2549-2550 จำนวน 7,521 อัตรา ใช้งบประมาณจำนวน 1,202,445,720 บาท
2.ในปีงบประมาณ 2556 เสนอขอ 10,030 อัตรา บรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่จบการศึกษาปี 2551-2552 ใช้เงิน 1,633,844,160 บาท
3.ในปีงบประมาณ 2557 เสนอขอ 9,276 อัตรา บรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่จบการศึกษาในปี 2553-2554 ใช้งบประมาณ 1,475,292,960 บาท
4.ในปีงบประมาณ 2558 เสนอขอ 14,093 อัตรา บรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่จบการศึกษาปี 2555- 2556
5. ปีงบประมาณ 2559 เสนอขอ 18,024 อัตรา บรรจุผู้ที่จบการศึกษาในปี 2557-2558
6. ปีงบประมาณ 2560 เสนอขอ 18,024 อัตรา บรรจุผู้ที่จบการศึกษาในปี 2559-2560
ทั้งนี้ ในการบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งเป็นสายงานที่จำเป็นต่อบริการสุขภาพ และค้างบรรจุมากที่สุดจำนวน 31,914 อัตรา จะใช้ 3 หลักเกณฑ์ โดยจะพิจารณาจากปีที่เริ่มจ้าง จากพื้นที่ทุรกันดาร และจากผลการปฏิบัติงาน
นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับการปรับเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวทุกตำแหน่ง ซึ่งใช้เงินบำรุงของแต่ละสถานพยาบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจะขอปรับเพิ่มในอัตรา 700 บาท เช่นเภสัชกร ค่าจ้างเมื่อแรกบรรจุ 11,030 บาท จะได้รับเป็น 11,730 บาท รวมทั้ง 21 สายงานต้องใช้เงินเพิ่มเดือนละ 90,620,600 บาท ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 – 30 กันยายน 2555 รวม 9 เดือน เป็นเงิน 815,585,400 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ที่ทำงานด้วยความเสียสละ เพื่อประชาชน
********************************* 19 มิถุนายน 2555