รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะเริ่มโครงการ ลดโรค เพิ่มสุข ให้คนไทย 6 กลุ่มทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ หวังสร้างต้นทุนคุณภาพเด็กไทยขนานใหญ่ เกิดมาต้องไม่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ปัญญาอ่อน และเอชไอวี เพิ่มความสูงเด็กไทยเท่าสากล เฉลี่ย 165-175 เซนติเมตร ต้องไม่อมโรคเรื้อรัง เมื่อก้าวสู่วัยลำดวน
วันนี้(14 มิถุนายน 2555) ที่ห้องประชุมอาคารข่าวสด กรุงเทพฯ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “มติชน เฮลท์แคร์ 2012 สมองดี ชีวีสุข”ปีที่ 4 จัดโดยบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และนิตยสารฮอสพิตอล แอนด์ เฮลท์แคร์ (Hospital & Healthcare) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 21-24มิถุนายน 2555 เวลา 10.00 – 20.00น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กทม.
นายวิทยา กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2555 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดำเนินการในด้านสุขภาพ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพบริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโรงพยาบาลทุกระดับ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน ใกล้ใจมีหมอประจำทุกครอบครัว 2.การดูแลอาหารปลอดภัย ทั้งอาหารดิบและสุก และ3.โครงการลดโรค เพิ่มสุข ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพดีแก่ประชาชนทุกกลุ่มอายุ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน ช่วยกันการเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพ วิธีการป้องกันโรคไปสู่ประชาชนให้กว้างขวางและทั่วถึง
นายวิทยากล่าวต่อว่า โครงการลดโรคเพิ่มสุขนี้ เป็นโครงการใหญ่ มีเป้าหมายดูแลคนไทย 6 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตั้งเป้าเด็กเกิดใหม่ ซึ่งมีปีละประมาณ 8 แสนคน จะต้องปลอดโรค 3 โรคคือโรคเลือดธาลัสซีเมีย โรคในกลุ่มอาการดาวน์หรือดาวน์ซินโดรม ซึ่งทำให้ปัญญาอ่อน และติดเชื้อเอชไอวี จะให้หญิงตั้งครรภ์และสามีตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุครรภ์ยังไม่ถึง 12 สัปดาห์ 2.ตรวจพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5ปีทุกคน ที่ผ่านมาพบเด็กวัยนี้มีพัฒนาการไม่สมวัยถึงร้อยละ 30 ปีนี้จะมอบสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกราย รวมทั้งหนุนให้เด็กกินนมแม่ทุกคน ซึ่งจะทำให้เด็กไทยมีอีคิว และไอคิวดี
3.กลุ่มวัยเรียน เพื่อพัฒนาให้เด็กไทยสูงสมส่วนเหมือนสากลเมื่ออายุ 19 ปี ตั้งเป้าเด็กชายสูงเฉลี่ย 175 เซนติเมตร หญิงสูงเฉลี่ย 165 เซนติเมตร โดยมีโครงการจัดค่ายเด็กไทยสูง 1 จังหวัด 1 ค่าย ส่งเสริมให้เด็กไทยดื่มนมเพิ่มขึ้นวันละ 1 มื้อ 1 ถุง และให้เด็กออกกำลังกาย ขยับกายก่อนเข้าเรียนและวิ่งรอบสนามฟุตบอล 1 วัน 1 รอบ ลดกินขนมกรุบกรอบ เน้นให้ความรู้ฉลากโภชนาการข้างกล่องขนม
4.กลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี ที่มีประมาณ 5 ล้านคน มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีเพศสัมพันธ์ 1.25 ล้านคน จะรณรงค์ความรู้เพศศึกษาในโรงเรียน ป้องกันปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ที่ผ่านมามีวัยรุ่นตั้งครรภ์ปีละ 2.5 แสนคน 5.กลุ่มวัยแรงงาน จัดโครงการวัยทำงานปลอดภัย ปลอดโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง กายใจเป็นสุขเน้น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงงาน กลุ่มเกษตรกร และโรงพยาบาล โดยเปิดคลินิกตรวจสุขภาพเกษตรกรครบวงจรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 6.กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ปีนี้เริ่มจัดบริการ 70 ปีไม่มีคิว จัดหน่วยบริการพิเศษผู้สูงอายุในโรงพยาบาล เช่น การตรวจประเมินสุขภาพของผู้สูงอายุ รณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนส้วมจากส้วมซึมนั่งยอง เป็นส้วมชักโครกหรือส้วมนั่งราบห้อยขา เพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม และรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2573 ไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และคนไทยมีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่ในระดับสูง โดยพบโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด รองลงมาได้แก่โรคหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง ซึ่งโรคดังกล่าวเมื่อเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต และจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1.4 ล้านคน ในพ.ศ. 2551 เป็น 1.7 ล้านคนในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 แต่โรคที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุดคือมะเร็ง ปีละประมาณ 60,000 คน กลุ่มผู้ที่ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากอันดับ 1 คือผู้สูงอายุ พบร้อยละ 56 รองลงมาคืออายุ 50-59 ปีพบร้อยละ 25 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต ต้องรณรงค์ประชาชนตั้งแต่วัยเด็กขึ้นไป เพื่อปรับพฤติกรรมไม่ให้เกิดโรคในวัยสูงอายุ สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างด้วยตนเอง ทั้งการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด ทั้งหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่
“คาดการณ์ว่าในพ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 52,150 ล้านบาท หากคนไทยช่วยกันป้องกันตนเองจะช่วยลดการสูญเสียได้ถึงร้อยละ 10-20 หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท” ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
สำหรับงานมติชนเฮลท์แคร์ ในวันที่ 21-24 มิถุนายน 2555 กระทรวงสาธารณสุข ได้นำผลงาน นวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมจัดกิจกรรม ประกอบด้วย กรมการแพทย์ จัดนิทรรศการให้ความรู้และบริการทางการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ให้ความรู้เรื่องยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ การแสดงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางผิดกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บริการตรวจวัดความดันโลหิตสูงโดย อสม. ให้คำปรึกษาด้านกฎมาย การร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ให้ความรู้เรื่องสปา แสดงการนวดสปา กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำวิธีการอดบุหรี่ด้วยวิธีการแพทย์แผนไทย ได้แก่ ชารางจืด ชาหญ้าดอกขาว ฝังเข็ม อบสมุนไพร กรมสุขภาพจิต จัดนิทรรศการความรู้เรื่อไอคิว อีคิว กรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ให้ความรู้การป้องกันมะเร็งเต้านม โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริการตรวจสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ยาแผนโบราณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โชว์บริการแพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากโรงพยาบาลดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โครงการลดโรคเพิ่มสุข โครงการเด็กสมส่วน โครงการสุขภาพดีวิถีไทย ลด 5 โรคไม่ติดต่อ และโครงการ 70 ปีไม่มีคิว ส่วนองค์การเภสัชกรรม บริการตรวจสภาพผิวหน้าฟรี จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบรนด์จีพีโอ และมีโปรโมชั่นพิเศษซื้อ 1 แถม 1
*************************** 14มิถุนายน 2555