สาธารณสุข ร่วมกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดศูนย์บริการปรึกษาปัญหาเอดส์ทางโทรศัพท์หมายเลข  1663 หรือ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์” มี 10 คู่สาย เจ้าหน้าที่ประจำการ 38 คน ให้บริการทุกวันตั้งแต่ 10.00-20.00 น. มั่นใจจะช่วยให้การควบคุมป้องกันโรคเอดส์ได้ผลยิ่งขึ้น คาดขณะนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อราว 2.5 แสนคน ที่ยังไม่ทราบว่าตนติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากไม่เคยได้รับการปรึกษาและตรวจเลือดมาก่อน  

          วันนี้ (31 พฤษภาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดศูนย์บริการปรึกษาปัญหาเอดส์ทางโทรศัพท์หมายเลข 1663 หรือ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ ณ ที่ทำการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ถ.รามคำแหง เขตสะพานสูง กทม. เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และผู้ที่ทำงานด้านเอดส์ เพื่อพัฒนาระบบบริการปรึกษาและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
 
          นายวิทยา บุรณศิริ กล่าวว่า การมีศูนย์ “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์” นี้ นับว่าเป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนที่รัฐบาลเห็นความสำคัญ และจัดบริการให้ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ เพราะเมื่อประชาชนที่มีปัญหา มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้เข้าถึงบริการปรึกษาและได้รับการรักษาโดยเร็ว จะช่วยให้เกิดการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อสู่คนอื่น   ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ในขณะเดียวกันในผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ก็จะเข้าถึงบริการรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดการเจ็บป่วย และการเสียชีวิต ตามเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์ตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติในปี 2559   ดังนั้น สายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 จึงถือเป็นช่องทางสำคัญของประเทศ ที่จะช่วยให้ประชาชนไทยเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ได้เร็วขึ้น โดยศูนย์บริการดังกล่าว จะทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลซึ่งเป็นหน่วยให้บริการดูแลรักษา ซึ่งในปี  2555 นี้ รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดงบดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์  2,940 ล้านกว่าบาท และในปี  2556 ได้รับงบเพิ่มเป็น 3,276 ล้านกว่าบาท โดยจะให้บริการด้วยความเป็นมิตรและรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการ
 
          สถานการณ์เอดส์ในประเทศไทยล่าสุดคาดว่า ไทยมีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตประมาณ 500,000 ราย แต่มีเพียง 2.5แสนรายเท่านั้น ที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ในขณะที่อีก 2.5แสนราย ยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นกลุ่มคนที่ประเมินได้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง แต่ไม่กล้าไปรับบริการปรึกษาและตรวจเลือดที่หน่วยบริการ และกลุ่มคนที่อาจจะทราบผลเลือดของตัวเองแล้ว แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องการดูแลรักษา ดังนั้น การมีศูนย์ให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ จะช่วยให้ประชาชนทั้ง 3 กลุ่มมีทางออกในการจัดการปัญหาและวางแผนดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ไม่ว่าจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ก็ตาม

          ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ประธานกรรมการศูนย์ “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์”กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ปรึกษาปัญหาเอดส์ทางโทรศัพท์แห่งนี้ เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 10.00 -20.00 น. โดยไม่มีการถามชื่อ และจะบันทึกเป็นรหัสผู้รับบริการแต่ละราย      ผู้รับบริการจะได้รับทราบข้อมูล ได้รับการปรึกษาในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับบริการมีความเข้าใจและมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจเข้ารับการบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการเรื่องการตรวจรักษาเอชไอวี/เอดส์มากขึ้น โดยศูนย์ดังกล่าวมี 10 คู่สาย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครให้บริการปรึกษา 38 คน หากโทรนอกเวลาจะมีระบบบันทึกอัตโนมัติและเจ้าหน้าที่จะโทรกลับทุกราย                                                                             ****** 31 พฤษภาคม



   
   


View 10    31/05/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ