ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงผลกระทบการเปิดเสรีอาเซียน เกรงบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยไม่เพียงพอ ปัญหาจากสมองไหลไปสู่เอกชน ให้เร่งระดมพลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน ทั้งด้านการผลิต ด้านระบบบริการ และด้านมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้ประชาชนไทยได้รับบริการที่เหมาะสมและเพียงพอ
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษเรื่อง “การเตรียมการของกระทรวงสาธารณสุขกับการเปิดเสรีอาเซียน” ในการจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเปิดเสรีอาเซียน : การเตรียมกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทย” จัดโดย มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานีว่าขณะนี้ในส่วนงานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในเรื่องของการเฝ้าระวังโรคติดต่อ การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค การดูมาตรฐานอาหารปลอดภัย และการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยนับว่ามีความพร้อม โดยภาครัฐดำเนินการได้เข้มแข็ง ส่วนเรื่องที่ต้องแก้ไขและติดตามคือเรื่องระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากร ซึ่งเมื่อดูภาพรวมแล้ว เรายังขาดแคลนแพทย์และพยาบาล ดังนั้นเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนเมื่อใด หากมีผู้ป่วยเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน จะทำให้โอกาสที่แพทย์ พยาบาลไหลไปสู่ภาคเอกชนหรือไปต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมการ และขณะเดียวกันต้องเตรียมการรองรับ เพราะอาจจะมีแพทย์หรือพยาบาลต่างๆ เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราต้องเตรียมการในการรองรับบริการในประเทศ ต้องมีความเหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยและประชาชนไทย โดยต้องมีความร่วมมือระหว่าง 3 ส่วนใหญ่ ส่วนที่ 1 คือ การผลิตบุคลากร ส่วนนี้ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนและกระทรวงสาธารณสุข ส่วนที่ 2 คือ ระบบบริการ โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นโรงพยาบาลของภาครัฐ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย คณะแพทย์ต่าง ๆ โรงพยาบาลของกองทัพ โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเอกชน ต้องหารือว่าความต้องการบุคลากรของระบบบริการทั้งหมดควรเป็นเท่าไหร่
ขณะเดียวกันตัวระบบบริการจะเป็นตัวช่วยเสริมเรื่อง การผลิตบุคลากร เช่น การผลิตแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ใช้เป็นที่ฝึกงานของแพทย์ได้ถึงปีละ 900 คน จากระบบผลิตปกติทั้งประเทศปีละ 2,500 คน เช่นเดียวกัน โรงพยาบาลของกองทัพ โรงพยาบาลของเอกชนทั้งหลาย จะมีความสามารถในการช่วยผลิตกำลังคนได้อีกด้วย และส่วนที่ 3 เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพต่างๆ เช่นแพทย์สภา ทันตแพทย์สภา สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ จะต้องพูดคุยหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการผลิตบุคลากรทั้งหมดมีข้อยืดหยุ่นอย่างไร เพื่อให้การผลิตมีเพียงพอและสามารถผลิตได้รวดเร็ว การผลิตอาจจะต้องขึ้นกับวัตถุประสงค์ เช่น ถ้าเราต้องการให้แพทย์ พยาบาลไปทำงานช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ส่วนภูมิภาค อาจจะต้องเก่งด้านไหนบ้าง ขณะที่บุคลากรที่ทำงานในภาคเอกชนควรจะเด่นหรือควรจะรู้เรื่องอะไรเป็นตัวหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยเบื้องต้นแล้ว เช่นการให้โรงพยาบาลเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรมากขึ้น
************************ 30 พฤษภาคม 2555
View 11
30/05/2555
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ