กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาทักษะการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนที่มารับบริการในสถานพยาบาล และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ที่มารับบริการ สร้างความพึงพอใจ   ลดปัญหาร้องเรียน 

    วันนี้ (14 พฤษภาคม 2555) ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมพัฒนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ สู่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจัดเป็นรุ่นที่ 3   โดยมีแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักประชาสัมพันธ์ นักวิชาการสาธารณสุข และผู้รับผิดชอบงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์จากโรงพยาบาลชุมชน สังกัดกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมจำนวน 210 คน

                นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ เป็นงานที่มีความสำคัญ และมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำงานในทุกๆด้านมากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งนอกจากจะดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยแล้ว ยังมีบทบาทในการป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วยทุกวิถีทาง จึงมีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเรื่องการสื่อสารสาธารณะด้านสุขภาพ เพื่อให้ความรู้ประชาชน ในการดูแลสุขภาพให้มีสุขภาพดี และแข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดภาระของแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลได้เช่นกัน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และลดปัญหาคนป่วยล้นเตียงล้นโรงพยาบาลได้อย่างมาก   
 
          นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมทำงานในกระทรวงสาธารณสุข พบว่าบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ มีความสามารถในการทำงานสูงมาก และทำงานแบบ ทำมากแต่พูดน้อย ซึ่งบ่อยครั้งปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เนื่องมาจากการพูดน้อยของเจ้าหน้าที่นั่นเอง การพูดน้อยหรือไม่พูด อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเข้าใจผิดกันระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ใส่ใจให้บริการ หรือบริการไม่ได้มาตรฐาน นำไปสู่การมีปัญหากับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย และเกิดการร้องเรียนกันในที่สุด    จากการติดตามเฝ้าระวังข้อร้องเรียนการให้บริการของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จากประชาชน ผ่านทางหนังสือพิมพ์ในปี 2554 พบมีจำนวน 23 เรื่อง โดยร้อยละ 80 มาจากพฤติกรรมการบริการ สาเหตุประมาณร้อยละ 50 เกิดจากการขาดการสื่อสาร    
 
          นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์แก่บุคลากรในสังกัด เพื่อหวังผลในการให้ความรู้ ความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทั้งในภาวะปกติและภาวะเกิดเหตุวิกฤติต่างๆ โดยมอบหมายให้สำนักสารนิเทศ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะด้านนี้แก่บุคลากรในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และขยายลงสู่โรงพยาบาลชุมชนซึ่งมี 774 แห่งทั่วประเทศ   ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 50 และคาดว่าจะดำเนินการพัฒนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งภายในปี 2556 เพื่อให้เกิดการประสานงานที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขทั้งภาวะปกติและวิกฤติฉุกเฉินให้บรรลุตามเป้าหมาย ทั้งนี้มีแผนพัฒนาทักษะการสื่อสารให้บุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในอนาคตด้วย     
                                                                                         
                                                                                             ************************ 14 พฤษภาคม 2555
 
 


   
   


View 12    14/05/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ