รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมสุขภาพจิต ดูแลจิตใจชาวบ้านที่ต.ศรีสุนทร  อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมสั่งโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งในภาคใต้ เตรียมพร้อมรับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ให้ซักซ้อมแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้กองแบบแผนออกแบบสร้างอาคารโรงพยาบาลให้มั่นคงแข็งแรง ต้านแผนดินไหวได้อย่างน้อย 6 ริกเตอร์ ด้านผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แนะนำให้ประชาชนในจุดเสี่ยง เตรียมถุงยังชีพ เตรียมน้ำดื่มใช้ได้ 48-72 ชั่วโมง ไฟฉาย  นกหวีด  สำรองแบตเตอรี่มือถือไว้ให้พร้อมรับภาวะฉุกเฉินตลอดเวลา

          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมรับมือแผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่า วันนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลวิชระภูเก็ต ส่งทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล  1 ทีม  ลงพื้นที่ที่ตำบลศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อให้การดูแลประเมินผลกระทบด้านจิตใจประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบบ้านเรือนได้รับความเสียหายแตกร้าว เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสม เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ และประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะตื่นตระหนก  

นายวิทยากล่าวต่อว่า ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ดำเนินการ 4 เรื่อง คือ1.ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประสานหน่วยแพทย์กู้ชีพ ระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ให้พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง 2.ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ตและใกล้เคียงภาคใต้ รวมถึงโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอื่นๆเช่นในภาคเหนือ ซักซ้อมแผนการอพยพเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งทุกแห่งมีอยู่แล้ว  แต่ให้เพิ่มกรณีเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง รวมทั้งระบบความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์ 3.ให้โรงพยาบาลจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะรอยร้าว 2จุดสำคัญคือที่เสา และคาน หากพบผิดปกติจะส่งวิศวกรจากกองแบบแผนประเมินทันที ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ อาคารต่างๆของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งปกติ ยังไม่พบปัญหารอยร้าวแต่อย่างใด และ4.ให้กองแบบแผนของกระทรวงสาธารณสุข ออกแบบอาคารให้สามารถต้านแผ่นดินไหวในอนาคตไว้ทุกที่อย่างน้อย 6 ริกเตอร์  เพื่อให้โรงพยาบาลมีความแข็งแรงมั่นคงที่สุด  เป็นที่พึ่งของประชาชนที่เจ็บป่วยได้ตลอดเวลา โดยพรุ่งนี้จะประชุมผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้อง  

          ด้านนายแพทย์เจษฎา จงไพบูลย์วัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิชระภูเก็ต กล่าวว่า จากตรวจสอบอาคารต่างๆ ของโรงพยาบาล  ยังไม่มีความเสียหายจากแผ่นดินไหว ในบ่ายวันนี้ จะประชุมผู้บริหารโรงพยาบาล เพื่อทบทวนและปรับแผนการรับมือในภาวะฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และรองรับกรณีแผ่นดินไหวด้วย  ทั้งเรื่องหน่วยกู้ชีพ   การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย  ระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางเรือ ทางอากาศ ระบบการสื่อสาร  การผ่าตัด   คลังเลือด เวชภัณฑ์  โรงพยาบาลสนาม  และจัดซ้อมแผนในเร็วๆ นี้   

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมตัวให้พร้อมการรับเหตุการณ์อย่างน้อย 3 เรื่องหลักที่ใกล้ตัวที่สุด เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ได้แก่ 1.ให้เตรียมโต๊ะที่แข็งแรง มั่นคง เพื่อเป็นจุดหลบภัยในบ้านเบื้องต้น   2.ให้สำรวจภายในห้องนอนให้ปลอดภัย จากอุปกรณ์บนเพดานห้องหรืออุปกรณ์อื่นล้มทับ และ3.ให้เตรียมถุงยังชีพในภาวะฉุกเฉินทุกบ้าน เช่นน้ำดื่มบรรจุขวดสำรองได้ 48-72 ชั่วโมง ไฟฉาย นกหวีด โทรศัพท์มือถือพร้อมสำรองแบตเตอร์รี่ไว้ด้วย หากเกิดเหตุการณ์จะสามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อขอความช่วยเหลือในยามคับขันได้

 ******************************     18 เมษายน 2555

 



   
   


View 15    18/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ