รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยระบบการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ประสบผลสำเร็จ แม้ไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย เนื่องจากจุดแข็งที่โดดเด่น 4 ประการ ทำให้อัตราครอบคลุมประชากรสูง ลดครัวเรือนล้มละลาย 1 แสนครัวเรือน   มีหลายประเทศสนใจ เช่น อาฟริกาใต้ เกาหลีใต้       

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะเข้าร่วมการประชุมขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับความก้าวหน้านโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศสมาชิก ที่ประเทศเม็กซิโก เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2555 ว่า การประชุมครั้งนี้ มีประเทศต่างๆจากทั่วโลกเข้าประชุมประมาณ 40 ประเทศ โดยมีประมาณ 20 ประเทศ ที่มีระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม โดยมีแพทย์หญิงมาการ์เร็ต ชาน( Dr.Margaret Chan)ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเป็นประธาน โดยรัฐมนตรีประเทศต่างๆเช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาฟริกาใต้ รวมทั้งไทยด้วย ได้นำเสนอความก้าวหน้าของการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน พบว่ามีความหลากหลาย บางประเทศอยู่ระหว่างการเริ่มต้น บางประเทศทำได้ร้อยละ 20 ร้อยละ30 หรือร้อยละ 50 แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่ครอบคลุมประชากร  เนื่องจากเป็นการดำเนินการโดยภาคเอกชน ประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกันตนในภาคเอกชน ประเทศแอฟริกาใต้ มีปัญหาเรื่องแรงงานที่มีในระบบ นอกระบบไม่ชัดเจน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการมาเป็นเวลานานกว่าไทย แต่มีค่าใช้จ่ายสูง
 นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งมีความครอบคลุมประชากรไทยทุกคนและสูงที่สุดในโลก แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศร่ำรวยก็ตาม ประกอบด้วย 3 ระบบคือ ประกันสังคม ครอบคลุมประชากรประมาณ 10 ล้านคน กองทุนสวัสดิการข้าราชการครอบคลุม 5 ล้านคน และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประมาณ 48 ล้านคน  จากการประเมินผลโครงการของไทยในรอบ 10 ปี พบว่าสามารถลดครัวเรือนล้มละลายจากการเจ็บป่วยได้ 1 แสนครอบครัว ถือเป็นความชัดเจนเด่นชัดในการลดปัญหาความยากจน ทำให้หลายๆประเทศให้ความสนใจ ขอเอกสารรายละเอียดเพิ่มเติมเช่น อาฟริกาใต้ เกาหลีใต้ เป็นต้น     
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อไปว่า จุดเด่นที่ทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มี 4 ปัจจัย คือ 1.มีโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการสุขภาพครอบคลุมทุกระดับตั้งแต่หน่วยย่อยที่สุดคือตำบลได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. ขึ้นไปจนถึงระดับจังหวัดจะมี รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และมีเครือข่ายจากประชาชน คืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.จำนวน 1 ล้านคน ร่วมดูแลสุขภาพประชาชนด้วย อสม.1คนดูแลประชากร 60 คน หรือประมาณ 20 ครอบครัว  
 2. รัฐบาลมีนโยบายชัดเจน และจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม 3.มีระบบบริหารแยกกันชัดเจนระหว่างผู้ซื้อกับผู้ให้บริการ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสปสช.เป็นองค์กรผู้ซื้อบริการแทนประชาชน ซึ่งบริหารในรูปคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วย ผู้ใช้บริการ และผู้รับบริการ กำหนดให้ผู้จัดบริการ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข ภาครัฐอื่นๆและภาคเอกชน จัดบริการรูปแบบต่างๆ ทั้งการป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือมีโครงการพิเศษอื่นๆ เช่นการให้วัคซีนกลุ่มพิเศษ และ 4. มีการศึกษาวิจัยระบบบริการสาธารณสุข คือสถาบันวิจัยระบบบริการสาธารณสุข เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาแนวทางต่างๆ ให้เหมาะสม  นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว
*****************************     10 เมษายน 2555


   
   


View 16    10/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ