รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจงมาตรการควบคุมซูโดอีเฟดรีนแก่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ตัวแทนจากโรงพยาบาลรัฐ /โรงพยาบาลเอกชน /คลินิก และตัวแทนร้านขายยา ภายหลังออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ยาสูตรผสม ซูโดอีเฟดรีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 4 เมษายน 2555

                 วันนี้ (4 เมษายน 2555) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ประชุมชี้แจงมาตรการควบคุมซูโดอีเฟดรีนให้แก่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ตัวแทนจากโรงพยาบาลรัฐ /โรงพยาบาลเอกชน /คลินิก และตัวแทนร้านขายยา ประมาณ 200 คน ภายหลังออกประกาศกระทรวงให้ยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 4 เมษายน 2555

 
นายวิทยา กล่าวว่า ภายใน 30 วัน คือภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ให้สถานพยาบาลที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และไม่ประสงค์จะมีไว้ในครอบครองยาตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสม เพื่อการบำบัดรักษา และร้านขายยาทุกแห่ง ดำเนินการจัดส่งยาตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมคืนให้กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า
 
นายวิทยา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกประกาศฯ เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 พ.ศ.2555 โดยสาระสำคัญ คือ กรณีการครอบครองซูโดอีเฟดรีน คำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วไม่เกิน 5 กรัม มีโทษตามมาตรา 106 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท ส่วนกรณีการครอบครองซูโดอีเฟดรีน คำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วเกิน 5 กรัม มีโทษตามมาตรา 106 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท ซึ่งการออกประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเรียบร้อยแล้ว
 
ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย  อย.ได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์จากซูโดอีเฟดรีนสำหรับ ผู้ผลิต / ผู้นำเข้า / โรงพยาบาลรัฐ / โรงพยาบาลเอกชน / คลินิก และร้านขายยา สรุปโดยย่อ ดังนี้
 
          - กรณีร้านขายยา ให้ส่งคืนยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน เฉพาะสูตรผสมพาราเซตามอล ให้กับผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ภายใน 30 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากพ้นกำหนด ตรวจพบว่ามีการครอบครองยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกสูตร จะมีโทษทั้งจำและปรับดังกล่าวข้างต้น
 
          - กรณีบริษัทผู้ผลิตเพื่อจำหน่าย ผู้ผลิตที่เป็นผู้ที่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2        (ซูโดอีเฟดรีน) เพื่อผลิตอยู่แล้ว อย. ให้ใช้ได้สำหรับการครอบครองยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนที่เป็นยาสำเร็จรูปด้วย และจะมีการรับคืนยาสูตรผสม เฉพาะสูตรผสมพาราเซตามอล จากร้านขายยาและสถานพยาบาลที่ไม่ประสงค์จะขอรับอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พร้อมทั้งต้องรวบรวมปริมาณคงคลังที่ได้รับคืนจากร้านขายยาและสถานพยาบาลทั้งหมด แจ้งกลับมายัง อย. ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ผู้ผลิตที่ได้รับมอบหมายให้จำหน่ายต้องแก้ไขฉลากให้ถูกต้องตามที่ อย. กำหนด เช่น เพิ่มข้อความ “วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2”ปิดทับเลขทะเบียนตำรับยาเดิม
 
- โรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตครอบครอง ส่วนโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ต้องขอใบอนุญาตครอบครองฯ โดยในส่วนภูมิภาคยื่นขออนุญาตได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ ยื่นขออนุญาตได้ที่ อย. และให้ทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐ เอกชน คลินิก ต้องจัดทำบัญชีรับ-จ่าย ยาซูโดอีเฟดรีน ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ หรือการเก็บรักษาซูโดอีเฟดรีน สามารถสอบถามมาได้ที่กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. หมายเลข 0 2590 7337 , 0 2590 7339 และ 0 2590 7351 หรืออีเมลกองควบคุมวัตถุเสพติด narcotic@fda.moph.go.th นายแพทย์พิพัฒน์กล่าว
 
***************  4 เมษายน 2555
 


   
   


View 11       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ