วันนี้ (4 เมษายน 2555) ที่อาคารศูนย์ประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดการประชุมวิชาการ และชี้แจงนโยบายการพัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในประเทศ แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แพทย์และพยาบาลทั่วประเทศ จำนวนรวม 900 คน เพื่อให้ผู้ป่วยรอดชีวิตสูงขึ้น ซึ่งโรคนี้ไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าต่างประเทศ 2 เท่าตัว      

              นายวิทยากล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการ 10,000 ดวงใจ ปลอดภัยด้วยพระบารมีเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ประชาชนชาวไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการเข้ารับบริการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดครั้งใหญ่ในประเทศ ระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม 2555 28 กุมภาพันธ์ 2556 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4.8 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตของคนไทยสูงเป็นอันดับ 3รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุจราจร โดยมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 18,000 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เกิดมาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากปัญหาหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 22,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การศึกษาของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันโรคทรวงอก และหน่วยงานอื่นๆทั่วประเทศ 17 หน่วยงาน พบว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดรุนแรง มีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 17 ซึ่งสูงกว่าต่างประเทศที่พบร้อยละ 7 หรือกว่า 2 เท่าตัว กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายเร่งพัฒนาระบบริการผู้ป่วยประเภทนี้ให้กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งเป้าจะลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือไม่เกินร้อยละ 10  

 ในการพัฒนาระบบการรักษาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัด คือสถาบันโรคทรวงอก โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ รวม 244 แห่ง ให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มเกิดอาการ โดยให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อช่วยชีวิตในระยะวิกฤตให้ปลอดภัย จนถึงขั้นการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และให้มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อในโรงพยาบาลภาครัฐอื่นที่มีศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคนี้ ได้แก่ โรงเรียนแพทย์ 10 แห่ง รพ.ทหารและตำรวจ 3 แห่ง   ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการต่อเนื่อง รวดเร็ว โอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น
 
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่า ฮาร์ท แอทแท็ค (Heart Attack) เป็นภาวะวิกฤตฉุกเฉิน ต้องได้รับบริการอย่างเร็วที่สุด โดยสาเหตุที่หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตัน เกิดจากมีไขมันหรือเนื้อเยื่อไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดตีบลง พร้อมกับมีการร่อนหลุดของตะกรันดังกล่าวพร้อมกับมีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บเค้นอกคล้ายถูกของแหลมแทง ใจสั่น เหงื่อออก เหนื่อยขณะออกแรง เป็นลม หมดสติ อาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และมีโอกาสเสียชีวิตทันทีประมาณร้อยละ 30-40
 
โดยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นโรคที่รุนแรงที่ต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว เพื่อให้การรักษาโดยเร็วที่สุด โดยมี  3 วิธี ได้แก่ 1.การให้ยาละลายหรือสลายลิ่มเลือด 2.การขยายหลอดเลือดแดงหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน และ3.การผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือด ซึ่งจะได้ผลดีถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาภายใน  12 ชั่วโมงหลังมีอาการเจ็บหน้าอก โดยขณะนี้ได้จัดทำคู่มือการดูแลรักษาผู้ป่วยส่งให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติมีมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง
 

 

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ในปี 2554 มีผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จำนวน  33,307 ราย ในจำนวนนี้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดรุนแรง 11,024 ราย ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องคือ การเปิดหลอดเลือดด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดร้อยละ 32 และขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนร้อยละ 14 รวม  4,700 ราย 
 
ระบบการบริการตามโครงการนี้ เมื่อมีผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บหน้าอก ให้เรียกใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกจังหวัด เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยขั้นต้น โดยการตรวจร่างกายและคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อวินิจฉัยโรคภายใน 10 นาที หากพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดรุนแรง ให้ยารักษาขั้นต้นด้วยยาแอสไพรินเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว และส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อให้การรักษาตามความเหมาะสมต่อไป โดยถือเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารักษาได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่ต้องถามสิทธิ์ ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า 
 
*************************** 4 เมษายน 2555


   
   


View 24    04/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ