วันนี้ (1 มีนาคม 2555) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าว การรณรงค์ “คัดกรองทั่วไทย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง” ว่า ในวันที่ 1– 20 มีนาคม 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังหรือโรควิถีชีวิตที่คนไทยป่วยกันมาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบในกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นด้วย ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการรณรงค์ครั้งยิ่งใหญ่ในโลก และเป็นการแสดงพลังของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ไทยด้วย เพื่อควบคุมป้องกันโรค ค้นหาผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การดูแลรักษา ลดการเสียชีวิตและลดความพิการ ตามนโยบายรัฐบาล
ในการรณรงค์ครั้งนี้ จะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. 1 ล้านคน ออกตรวจคัดกรองฟรี โดยวัดความดันโลหิตทุกคน และค้นหากลุ่มเสี่ยงเป็นเบาหวาน ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งทั่วประเทศมี 53.9 ล้านคน โดยจะขึ้นทะเบียนประชาชนที่ตรวจทุกราย และแบ่งการดูแลออกเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่ปกติ กลุ่มที่ผิดปกติแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย กลุ่มที่ป่วยแล้ว และกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้การดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม มั่นใจว่าจะเป็นวิธีที่ลดจำนวนผู้เจ็บป่วยลงอย่างได้ผล และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ เมื่อป่วยแล้ว สามารถทำให้เกิดโรคอื่นตามมาได้อีกอย่างน้อย 5 โรค คือโรคหัวใจ อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไตวาย ตาบอด อาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย และพิการถูกตัดขา ตั้งเป้าดำเนินการตรวจครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้ร้อยละ 90
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรควิถีชีวิตในประเทศไทยกำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ 5 โรคสำคัญ ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละ 97,900 คนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละประมาณ 3 แสนคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 11 คน โดย 2 ใน 3 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี และในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2553 มีผู้ป่วยจากโรคที่กล่าวมาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า และจากการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นเบาหวานร้อยละ 6.9 หรือประมาณ 3 ล้านคน และเป็นความดันโลหิตสูงร้อยละ 21.4 หรือกว่า 10 ล้านคน รัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่าย 2 โรคนี้ปีละ 126,859 ล้านบาท และเรื่องที่น่าตกใจพบว่าผู้ป่วยเบาหวาน 1 ใน 3 และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงร้อยละ 50 ไม่เคยรู้ว่าตัวเองป่วย ซึ่งกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการดูแล จะเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้สูง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป กินผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ความเครียดเรื้อรัง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ในการควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554–2563 เป็นโครงการ 10 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยใหม่ ให้เป็นวิถีชีวิตที่ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดพิการ ลดตาย ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาจาก 5 โรคนี้ และพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. ให้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยเพิ่ม
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ดำเนินการตั้งแต่พ.ศ. 2552 -2554 เพื่อตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีจำนวน 22.2 ล้านคน ผลการตรวจในปี 2554 พบผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่กว่า 300,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1 พบผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ เสี่ยงจะป่วยอีก 2.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11 และพบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่กว่า 800,000 คน คิดเป็นร้อยละ 4 และมีผู้ที่เสี่ยงจะเป็นอีกอีก 3.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1 และพบผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีโรคแทรกซ้อนรวม 176,000 คน ได้แก่ ไตเสื่อม 96,000 คน มีปัญหาทางตา 50,000 คน และมีอาการชาที่เท้า เท้าเป็นแผล 30,000 คน ได้ให้สถานบริการให้คำแนะนำติดตามดูแลรักษา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลของการรณรงค์ตรวจคัดกรองครั้งใหญ่ของประเทศครั้งนี้ จะทำให้ระบบการดูแลผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ของไทยดีขึ้น ประชาชนทุกคนจะได้รับรู้สุขภาพตนเองและหันมาเอาใจใส่ตัวเองมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ จะวิเคราะห์ผลการตรวจและจัดแผนดูแลเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย และกลุ่มป่วยที่มีปัญหาแทรกซ้อน โดยกลุ่มที่ปกติ จะเน้นให้คำแนะนำสร้างเสริมสุขภาพตามหลัก 3อ.2ส. ได้แก่ ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ ไม่ดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ และติดตามตรวจปีละครั้ง กลุ่มเสี่ยงให้รพ.สต.ให้คำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพป้องกันไม่ให้ป่วย ติดตามตรวจเลือดและวัดความดันโลหิตทุก 6 เดือน และส่งเสริมศักยภาพประชาชนให้เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนต้นแบบสร้างสุขภาพดี กลุ่มผู้ป่วย ให้จัดระบบในการดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ตรวจภาวะแทรกซ้อน และบริการรักษาพยาบาลเชื่อมโยงระหว่างรพ.สต. โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน จะส่งพบแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อดูแลรักษา มั่นใจว่ามาตรการนี้ จะลดผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนลงได้มาก
สำหรับโรคความดันโลหิตสูง มักพบในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเช่น พ่อแม่ ปูย่าตายาย เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล โดยจะมีอาการปวดศีรษะ มึนงง โดยมักปวดบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า เหนื่อยง่าย เลือดกำเดาออก หากมีความดันโลหิตสูงมากอาจมีการคลื่นไส้อาเจียน ส่วนอาการหลักของโรคเบาหวาน คือหิวบ่อย กระหายน้ำ ปัสสาวะมากและบ่อย ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ได้ หากมีอาการเหล่านี้ต้องพบแพทย์โดยเร็ว
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง มักเกิดโรคไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนตามมาจากปัญหาของเส้นเลือด และในวันไตโลก (World kidney day) 8 มีนาคมนี้ กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย จะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง...คนไทยไตไม่วาย” และ“กินรสจืด ยืดชีวิต” เพื่อให้ความรู้ และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไตวายด้วย
**************************** 1 มีนาคม 2555