รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศต่อสู้โรคมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี ประกาศให้เป็นวาระภาคอีสาน เร่งรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่กินปลาเกล็ดดิบ ปลาร้าดิบ และค้นหาผู้ป่วยใน 4 กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาหายขาด โอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น เย็นวันนี้(22 กุมภาพันธ์ 2555)นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์สมชัย นิจพาณิชย์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลร้อยเอ็ด และหารือกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้บริหารโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เพื่อแก้ไขปัญหาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยติดต่อกันมากกว่า 10 ปี โดยเฉพาะมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราป่วยและอัตราตายจาก 2 โรคนี้สูงที่สุดในโลก พบได้ 30-40 ต่อประชากร 100,000 คน จัดเป็นปัญหาสำคัญและรุนแรง นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ เห็นด้วยว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะต้องรณรงค์ป้องกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมผลักดันโครงการแก้ไขเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยจะขอให้ประกาศเป็นวาระของภาคอีสาน ขอให้รัฐบาลให้การสนับสนุน 2 เรื่อง คือ 1.การรณรงค์ให้ความรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่กินปลาเกล็ดดิบ ปลาร้าดิบ รณรงค์ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ค้นหาผู้ป่วย 2 โรคนี้ใน 4 กลุ่มเสี่ยง เนื่องจากจะทำให้การรักษาได้ผลเกินกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ กลุ่มที่เป็นชาวอีสานแต่กำเนิด กลุ่มที่ตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ กลุ่มที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนใกล้ริมแม่น้ำ ลำคลอง และกลุ่มอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ชาย ซึ่งพบป่วยจากโรคดังกล่าวมากในอัตรา 200 ต่อประชากร 100,000 คน โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โรงพยาบาล จุฬาภรณ์ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่เสด็จมาที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดเมื่อปี 2551 ที่ทรงริเริ่มแนวคิดถึงปัญหาดังกล่าว นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 คือการค้นหาผู้ป่วยเข้ารักษาตั้งแต่เริ่มเป็นโรคใหม่ๆ โดยจะเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนในภาคอีสานประมาณ 300 แห่ง ให้สมารถตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการ ต่อจากอสม. เพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้เร็ว และส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลใหญ่ 7 แห่งประกอบด้วย โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กทม. ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1 ชุด โดยมอบหมายให้นายแพทย์สมชัย นิจพาณิชย์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีการประชุมติดตามผลเป็นระยะๆ คาดหวังว่า ในเบื้องต้นนี้จะเป็นตัวผลักดันให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆเป็นในทางเดียวกัน ซึ่งจะสามารถประสบผลสำเร็จได้ ***********22 กุมภาพันธ์ 2555


   
   


View 16    22/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ