กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มหลักสูตรอบรม อสม. อีก 1 หลักสูตร คือ การจัดการสุขภาพในภาวะวิกฤต  พร้อมดูแลประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน เช่นน้ำท่วม ได้อย่างทันท่วงทีและปลอดภัย มีแผนช่วยเหลืออย่างชัดเจน   ทั้งในช่วงก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย จนถึงระยะฟื้นฟู  

เช้าวันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอบรมฟื้นฟูศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข ปี 2555 ของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวน 1,627 คน ที่ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ให้พร้อมรับมือภัยพิบัติฉุกเฉิน

นายวิทยากล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาความรู้และความสามารถ อสม.ทุกคน ให้สามารถประเมินปัญหาสุขภาพในชุมชน วางแผน และหาวิธีจัดการปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาสุขภาพในชุมชน เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น ภาวะน้ำท่วม  ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปี

 

 นายวิทยากล่าวต่อว่า ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับมหาอุทกภัยในปี 2554 พบว่า อสม.ทั่วประเทศที่มีประมาณ 1 ล้านคน ได้ให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เช่นจัดส่งยาชุดสามัญประจำบ้าน การดูแลอาหารปลอดภัย การดูแลการเจ็บป่วยในพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมีความประทับใจบทบาทของอสม.เป็นอันมาก   

 

 ในปี 2555 นี้ ได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มหลักสูตรอบรม อสม. อีก 1 หลักสูตร จากเดิมที่มีจำนวน 10 หลักสูตร  คือหลักสูตร การจัดการสุขภาพในภาวะวิกฤต เพื่อให้ อสม.มีบทบาทและมีแผนการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยอย่างชัดเจน โดยใช้กรณีน้ำท่วมเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งเนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นหนัก 3 ช่วง คือ 1.ช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ให้วางแผนเตรียมป้องกันภัยในชุมชน เช่น การวิเคราะห์ความเสี่ยงของชุมชน จัดทำฐานข้อมูลเตรียมรับภัยพิบัติ เตรียมเครื่องมือสื่อสาร การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน การวางแผนการเคลื่อนย้ายประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่นคนพิการ คนตาบอด ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยเรื้อรังที่นอนรักษาที่บ้าน การส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล  

2.การวางแผนจัดการช่วงเกิดภัยพิบัติ เช่น การชี้เป้ากลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ การเฝ้าระวังด้านสุขภาพอนามัย โรคติดต่อ การจัดการอาหารและน้ำ การออกเยี่ยมบ้าน การปฐมพยาบาล การให้คำแนะนำโรคที่มากับน้ำท่วม  และ 3.การวางแผนจัดการช่วงฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ เช่น แนะนำด้านสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม ความสะอาดห้องสุขา บ่อน้ำ การป้องกันโรคหลังภัยพิบัติ รวมทั้งเยียวยาด้านจิตใจ ครอบครัวที่สูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สินด้วย

นอกจากนี้  ได้สนับสนุนกระเป๋าปฐมพยาบาลให้ อสม. เป็นเป้สะพายหลัง ซึ่งบรรจุวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงานของอสม.ในชุมชน เช่น ปรอทวัดไข้  ชุดทำแผล ถุงมือยาง สายยางห้ามเลือด ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก แอลกอฮอล์ทำความสะอาดแผล น้ำยาโพวิดีใส่แผลสด เป็นต้น เพื่อให้ อสม.สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น   

 ************************************** 17 กุมภาพันธ์ 2555



   
   


View 18    17/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ