รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดเร่งรณรงค์ทำลายลูกน้ำยุงลาย เพื่อลดปริมาณยุงทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท ป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเต็มที่ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนฤดูฝนจะมา   ตั้งเป้าโรงเรียนและโรงพยาบาลต้องเป็นเขตปลอดลูกน้ำยุงลาย ส่วนในชุมชน หมู่บ้าน จะต้องควบคุมไม่ให้มีลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือนเช่นกัน ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสายพันธุ์เชื้อไข้เลือดออกปี 2555 นี้คาดว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกับปี 2554 ในช่วงเดือนมกราคม- 8 กุมภาพันธ์ 2555 มีผู้ป่วยแล้ว 1,596 ราย เสียชีวิต 1 ราย       

           วันนี้ ( 11 กุมภาพันธ์ 2555 ) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีทอดผ้าป่าขยะ เช่นขวดแก้ว ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก   ที่ศูนย์ปฏิบัติการเฉลิมพระเกียรติ อบจ.จันทบุรี เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และหารายได้สมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี และให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยประสบปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นตัวการแพร่เชื้อทุกปี โรคมักระบาดในฤดูฝน เนื่องจากมีแหล่งน้ำขังจากฝนตกจำนวนมาก ทำให้ยุงลายวางไข่และเพาะพันธุ์ได้รวดเร็ว ตลอดปี 2554 ที่ผ่านมาทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 68,386 ราย เสียชีวิต 62 ราย ในปีนี้จึงมีนโยบายให้ทุกจังหวัดเร่งป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆก่อนฤดูฝนจะมา    โดยเฉพาะการลดปริมาณของยุงลาย ไม่ให้มีเลยหรือมีแต่มีน้อยที่สุด ซึ่งโอกาสความเสี่ยงของคนที่จะถูกยุงกัดก็จะน้อยลง พื้นที่ต้องเน้นหนักคือภาคกลาง ภาคใต้ ซึ่งพบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากทุกปี  
 
นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท ตั้งเป้าพื้นที่ในเขตโรงเรียนและโรงพยาบาล ซึ่งมีคนอยู่รวมกันจำนวนมากในช่วงกลางวัน จะต้องไม่มีลูกน้ำยุงลายหรือลูกน้ำยุงลายต้องเป็นศูนย์ ส่วนในชุมชนหรือในหมู่บ้าน ต้องควบคุมไม่ให้มีลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำขังในบ้านเช่นโอ่งน้ำ แจกันไม้ประดับ เช่นกัน
      
          ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข    กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในปี 2555 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-8 กุมภาพันธ์ 2555    สำนักระบาดวิทยารายงานพบผู้ป่วยทั่วประเทศ รวม 1,596 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยจำนวนของผู้ป่วยน้อยกว่าช่วงเดียวกันปี 2554 ประมาณร้อยละ  30    ทั้งนี้ตลอดชีวิตประชาชนมีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้  4 ครั้ง ตามจำนวนของสายพันธุ์ของเชื้อโรคไข้เลือดออกที่มี 4 สายพันธุ์ โดยหลังจากได้รับเชื้อ 1 สายพันธุ์จะมีภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้นๆไปตลอดชีวิต และมีภูมิคุ้มกันอีก 3 สายพันธุ์ ได้ประมาณ 6-8 เดือน   กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้วิเคราะห์สายพันธุ์ไข้เลือดออกที่ระบาดในปีที่ผ่านมา พบอันดับ 1 คือชนิดที่ 2 ร้อยละ 51 รองลงมาคือชนิดที่ 1 พบร้อยละ 34 ชนิดที่ 3 พบร้อยละ 11 และชนิดที่ที่ 4 พบได้ร้อยละ 4 คาดแนวโน้มในปีนี้ก็จะเป็นชนิดที่ 1 และ 2 เช่นเดิม
 
          สำหรับยุงลาย โดยทั่วไป เป็นยุงที่ออกหากินในเวลากลางวัน แต่อาจออกหากินถึงเวลาพลบค่ำได้ ในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะต้องนอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด    อาการของโรคไข้เลือดออกคือมีไข้สูงติดต่อกัน 2-7 วัน ผู้ป่วยโรคนี้ทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน  มักจะมีหน้าแดง  อาจปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา  เบื่ออาหาร อาเจียน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ ประชาชนทุกวัยเป็นโรคนี้ได้ โดยหลังจากเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอลแล้ว ไข้ไม่ลง ใน 2 วัน ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก และพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ป้องอาการช็อค ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  
 
************** 11 กุมภาพันธ์ 2555


   
   


View 12    11/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ