รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และอย.ควบคุมมาตรฐานร้านขายยาให้เป็นไปตามกฎหมาย ขอความร่วมมือร้านขายยาให้ขายยาตามข้อบ่งชี้ของการป่วย เพื่อใช้รักษาโรค  ชี้การกินยาเมธิลลีน บลูหรือยาอื่นๆ ไม่สามารถพลางผลการตรวจหายาบ้าในปัสสาวะได้ ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดตรวจตรวจสารเสพติดในปัสสาวะในภาคสนามด้วยเทคนิคชั้นสูงเรียกว่า ไอซี ผลแม่นยำทุกราย

             จากกรณีที่มีข่าววัยรุ่นในจังหวัดภูเก็ต นำสารเคมีกลุ่มเมธิลลีน บลู (Methtylene Blue) มาดื่มหลังจากเสพยาไอซ์ เพื่อทำให้อาเจียนและไม่สามารถตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะได้นั้น 

ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการควบคุมการขายยาเมธิลลีน บลู ซึ่งจัดเป็นยาอันตราย หรือยาอื่นๆ เพื่อแก้ไขและป้องกันการนำไปใช้ผิดประเภท ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบและควบคุมร้านขายยาที่ขึ้นทะเบียนในพื้นที่ทั้ง 3 ประเภท คือร้านขายยาแผนปัจจุบัน ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ และร้านขายยาแผนโบราณ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามประเภทที่ขอขึ้นทะเบียนไว้   และขายยาตามข้อบ่งชี้ให้คนที่ป่วยจริงๆ  
นายวิทยากล่าวต่อว่า กรณีการนำเมธิลลีน บลูมากิน หลังเสพยาไอซ์เพื่อทำให้อาเจียนและไม่สามารถตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ ทำให้การตรวจหายาบ้าในปัสสาวะมีผลลบนั้น ซึ่งปรากฏเป็นข่าวมาเป็นระยะๆ ในช่วงหลายปีผ่านมา   ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการศึกษาตัวอย่างจริง ด้วยการใช้ชุดทดสอบทางเคมีเพื่อตรวจหาสารเสพติดที่อยู่ในตระกูลยาบ้าในปัสสาวะ ที่มีการกินยาที่มีส่วนผสมของสารเมธิลลีน บลูด้วย พบว่าไม่มีผลต่อการตรวจใดๆ สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุดทดสอบในปัสสาวะของผู้ที่เสพยาบ้าให้ผลบวก แม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเลี่ยงกฎหมายได้ ดังนั้น การไม่เสพยาเสพติดทุกชนิด จึงเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า ขณะนี้อย. อยู่ระหว่างการดำเนินการจะทบทวนตำรับยาที่มีเมธิลลีน บลูที่ขึ้นทะเบียนกับอย.ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งประชาชนเรียกติดปากว่ายาล้างไต แต่ปัจจุบันมียาตัวอื่นที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ดังนั้นอย.กำลังจะขอทบทวนตำรับยาและนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการยาเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ยาดังกล่าวเมื่อกินเข้าไปแล้วจะดูดซึมที่ระบบทางเดินอาหารน้อยมาก โดยจะถูกย่อยสลายและขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ โดยปัสสาวะและอุจจาระจะมีสีฟ้าหรือสีเขียวอมฟ้า  
ทางด้านนายแพทย์นิพนธ์โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดทดสอบภาคสนาม เพื่อตรวจหาสารเสพติดตระกูลยาบ้าทั้งหมดในปัสสาวะ โดยใช้เทคนิคชั้นสูงที่เรียกว่าไอซี (IC : Immuno Chromatography) ซึ่งสารเคมีในชุดทดสอบดังกล่าว จะจับกับโมเลกุลของยาบ้าและสารที่อยู่ในตระกูลยาบ้า และทำปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้รู้ได้ว่ามีการเสพยาบ้ามาหรือไม่ และไม่มีตัวยาหรือวิธีการใดๆ ที่จะกลบเกลื่อนกลไกผลทางเคมีชุดทดสอบนี้ได้เลย โดยใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 5 นาทีรู้ผล โดยขณะนี้การตรวจปัสสาวะหายาบ้าของเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศจะใช้วิธีนี้ตรวจ ส่วนชุดการตรวจสอบการเปลี่ยนสีที่ให้ผลสีม่วงนั้น ขณะนี้เลิกใช้แล้ว     
**********************************     8 กุมภาพันธ์ 2555


   
   


View 18    08/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ