วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2555) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นายดิเรก รัทเธอร์ฟอร์ด (Mr. Derek Rutherford) ประธานกรรมการเครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก(GAPA) แถลงข่าวว่า ในวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2555 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม นโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก” (Global Alcohol Policy Conference, GAPC) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในโลกที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยความร่วมมือ 4 หน่วยงานหลักได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก(GAPA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ทุกประเทศปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์ลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญการป้องกันและลดปัญหา ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น  โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า เหล้า เป็น 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวการร้ายที่ทำลายสุขภาพคือ บุหรี่ อาหารขยะ และการไม่ออกกำลังกาย  โดยได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศสมาชิกทั่วโลกพบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตปีละกว่า 2.5 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 4.8 คน  เฉพาะในกลุ่มอายุ 15-29 ปี มีรายงานเสียชีวิตปีละ 320,000 คน  ยังไม่รวมถึงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร  การทำร้ายร่างกาย  การป่วย  ผลกระทบต่อครอบครัวและเด็กอีกจำนวนมาก  ข้อมูลในพ.ศ. 2548 ประชากรโลกอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละ 6.13 ลิตรต่อปี ล่าสุดที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกใน พ.ศ. 2553 มีมติรับรอง ยุทธศาสตร์โลกเพื่อจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกรอบให้ประเทศสมาชิก 192 ประเทศ เพื่อลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต ลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มชนิดนี้   
ในส่วนของประเทศไทย มีนโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ มียุทธศาสตร์ควบคุมและลดความรุนแรงปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  5 ยุทธศาสตร์  ดังนี้  1. การควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพ 2.การปรับเปลี่ยนค่านิยมและลดแรงสนับสนุนในการดื่ม 3.การลดอันตรายจากการบริโภค     4.การจัดการปัญหา แอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่และ5.การพัฒนากลไกการจัดการและสนับสนุนที่เข้มแข็ง ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553  และมีกฎหมายคือพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในโลก
ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบในกลุ่มประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป  ดื่มสุรา 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ32 ของประชากรวัยนี้ที่มีทั้งหมด 53.9 ล้านคน ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 5 เท่าตัว  ผู้ชายเริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 19.4 ปี ผู้หญิงอายุ 24.6 ปี  และเมื่อเทียบกับพ.ศ. 2552 พบผู้ชายมีแนวโน้มอัตราการดื่มลดลงจากร้อยละ 54.5 เป็นร้อยละ 53.4 ส่วนผู้หญิงอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.8 เป็น ร้อยละ 10.9    
ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้
1.มาตรการด้านสังคม โดยขอความร่วมมือจากผู้นำทางศาสนา 5 ศาสนาหลักของประเทศ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของศาสนา รวมถึงส่งเสริมให้ปฏิบัติตามคำสอนของทุกศาสนา  และร่วมกับสสส. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชน และประชาชนทั่วไป  ให้เกิดความรู้ ความตระหนักในโทษ พิษ ภัย และผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
2.มาตรการด้านกฎหมาย  มีร่างกฎหมายลูกเพิ่มอีก 8 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ อาทิ ห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน สถานกีฬา, ห้ามขายรอบสถานศึกษา, ห้ามขายเหล้าปั่น, ห้ามดื่มบนยานพาหนะฯหรือบริเวณหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ, การควบคุมบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า,   การขอรับการสนับสนุนเพื่อบำบัด รักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล
               นอกจากนี้ยังมีระบบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ โดยการสร้างเครือข่ายการทำงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะสถานที่ราชการและสถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแล   การร่วมกับสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา 45 สถาบัน จัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา เพื่อควบคุมการจำหน่ายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย  การพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธร 9 ภาค และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ ในการเฝ้าระวังและบังคับใช้ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551   โดย   ผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2553–30 กันยายน 2554 ได้เฝ้าระวังฯตรวจเตือน ตรวจสอบร้านจำหน่ายเหล้า 1,279 ราย กล่าวโทษดำเนินคดี  241 ราย แบ่งเป็น     ในกทม. ตรวจเตือน 302 ราย กล่าวโทษดำเนินคดี  24 ราย ในส่วนภูมิภาคตรวจเตือน  977   ราย  กล่าวโทษดำเนินคดี  217   ราย
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นนโยบายสำคัญที่หลายประเทศเร่งดำเนินการ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพประชาชน และต้นเหตุของการสูญเสียหลายประการ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง กว่า 14,000 ล้านบาท โดยปี 2553 อยู่ที่ 139,337 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 อยู่ที่ 153,901 ล้านบาท เป็นผลจากการผลักดันนโยบาย และการรณรงค์ผ่านโครงการต่างๆ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา           มีประชาชนเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเพิ่มครึ่งจาก 15% ในปี 2546 เพิ่มเป็น 53% ในปี 2554 โครงการรับน้องปลอดเหล้า ที่ในปี 2549 พบการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการรับน้อง ร้อยละ 53.7 และลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 9.8 ในปี 2552 และโครงการให้เหล้าเท่ากับแช่ง ที่ทำให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมงดซื้อเหล้าเป็นของขวัญปีใหม่เพิ่มขึ้น
“ขณะที่การทำงานในระดับนานาชาติ มีความก้าวหน้าอย่างมาก สสส. ไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธาน สสส. โลก มีภารกิจสำคัญคือ การสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนานโยบายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างเข้มข้นใน 4 ประเทศ คือ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมองโกเลีย ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ สสส. จะได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในด้านต่างๆ กับนานาประเทศ เพื่อนำมาสู่ความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต” ทพ.กฤษดา กล่าว
สำหรับการประชุมครั้งนี้  มีการบรรยายวิชาการน่าสนใจหลายประเด็น  เช่น ภาระโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก แอลกอฮอล์กับโรคไม่ติดต่อ สถานการณ์และแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิดใหม่ ภาษีและราคา การควบคุมการตลาดและการเข้าถึง และแนวทางในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ศาตราจารย์โรบิน  รูม (Prof. Robin Room ) จาก Turning Point Alcohol & Drug Centre ประเทศออสเตรเลีย ดร. เจอเกน เรห์ม (Dr. Jurgen Rehm) จากประเทศแคนาดาและจากภาคประชาสังคม ภาครัฐ ตัวแทนประเทศและตัวแทนชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการประชุมนอกรอบของหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ การศึกษาดูงานนอกชุมชนปลอดเหล้าที่ชุมชนสันติอโศก ดูชุมชนลดเลิกเหล้าของ กทม.  ที่ชุมชนหลังไปรษณีย์สำเหร่  ดูตัวอย่างพ่อค้าแม่ค้าปฏิบัติตามกฎหมายเหล้าที่ตลาดน้ำคลองลัดยม ตลิ่งชัน กทม.  ดูงานต้นแบบของพนักงานปลอดเหล้าที่บริษัท เอเชียพรีซิชั่น จำกัด   และดูด้านการบำบัดรักษาที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า   และการนำเสนอผลงานทางวิชาการ นิทรรศการ ลานกิจกรรม และที่สำคัญจะมีการประกาศเจตนารมณ์  GAPC (GAPC Declaration)ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลกด้วย
******************************* 6 กุมภาพันธ์ 2555
 


   
   


View 17    06/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ