วันนี้ (27 มกราคม 2555)  ที่ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ประชุม  ชี้แจงนโยบายการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินประจำปี 2555 พร้อมมอบอุปกรณ์สนับสนุนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ

 นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มีความเสี่ยงที่จะประสบกับปัญหาภัยพิบัติ ทั้งภัยแล้ง ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ล่าสุด จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมาสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนมาก ดังนั้นในปี 2555 นี้ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์ฉุกเฉินเตรียมพร้อมเป็นพิเศษ ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัยประชาชนจากภัยพิบัติ นโยบายการทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ในปี 2555  เน้นหนัก 3 เรื่องดังนี้   

   
1
 
1.ให้วางแผนจัดระบบการจราจรเพื่อใช้ในการส่งต่อผู้ป่วย เมื่อเกิดภัยพิบัติ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นปัญหาแรกที่พบ ต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งทางรถ เรือ อากาศ  2.วางแผนการช่วยเหลือประชาชนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่นกรณีของน้ำท่วม สังคมเมืองกับชนบทมีความแตกต่าง เช่น ในชนบทน้ำท่วมถึงเอว ถึงคอ ประชาชนสามารถปรับตัวอยู่กับน้ำได้ แต่สังคมเมืองน้ำท่วมแค่เข่า ก็สร้างความลำบากอย่างมากเนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ในการอยู่กับน้ำ ดังนั้นการออกแบบการช่วยเหลือก็ต้องแตกต่างกัน 3.ให้ปฏิบัติช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตามนโยบาย 3 เร็ว 2 ดี ฟรีทั่วไทย ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาวะปกติ และภาวะฉุกเฉิน 

 ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการช่วยชีวิตประชาชนในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา พบว่าการช่วยเหลือและลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ รวมทั้งขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเสมือนหัวใจหลักในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดและปลอดภัยดังนั้นในปี 2555 นี้  กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แก้ไขปัญหา เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น 3 เรื่องคือ 1. รถพยาบาล ได้พัฒนารถพยาบาลฉุกเฉินรุ่นพิเศษ 6 ล้อ จำนวน 4  คัน พร้อมระบบสื่อสาร มอบให้ ร.พ.พระนั่งเกล้า สำนักงานสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี,ร.พ.สรรพสิทธิประสงค์ และร.พ.พุทธชินราช โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

 2.จัดอุปกรณ์ทางการแพทย์อาทิ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องมือวัดสัญญาณชีพ เครื่องดูดเสมหะประจำเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 10 ชุด จัดสรรให้โรงพยาบาล 10 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติในเขตพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมเบื้องต้นแล้วได้แก่ ร.พ.ศรีสังวาลย์,ร.พ.นครพิงค์,ร.พ.พระนั่งเกล้า,ร.พ.พุทธชินราช,ร.พ.มหาราชนครราชราชสีมา,ร.พ.อุดรธานี, ร.พ.สุราษฎร์ธานี,ร.พ.วชิระภูเก็ต ,ร.พ.ปัตตานี และร.พ.รามาธิบดี

 และ 3.จัดอุปกรณ์สำหรับชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ หรือโรงพยาบาลสนาม อาทิ เต้นท์สนาม เครื่องปั่นไฟ เตียงสนาม เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องช่วยหายใจ ชุดแผ่นกระดาษรองหลังเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เครื่องดูดของเหลว วิทยุสื่อสาร จำนวน 18 ชุด ให้ ร.พ.มหาราชนครศรีธรรมราช, ร.พ.พระนครศรีอยุธยา, ร.พ.เชียงรายประชานุเคราะห์, ร.พ.อุดรธานี, ร.พ.ขอนแก่น, ร.พ.รามาธิบดี, ร.พ.พระจอมเกล้าจ.เพชรบุรี ,ร.พ.ชัยนาทนเรนทร, ร.พ.พหลพลพยุหเสนา,ร.พ.ราชบุรี,ร.พ.เพชรบูรณ์ ร.พ.อุทัยธานี,ร.พ.นราธิวาสราชนครินทร์,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ,แพร่,ภูเก็ต ,ยโสธรและอุตรดิตถ์ ซึ่งสามารถใช้ปฏิบัติการดูแลประชาชนในภาคสนามได้ทันที    

  ************** 27 มกราคม 2555



   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ