กระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ หนองคาย เป็นศูนย์รักษาโรคนิ่ว โรคไต โรคกระดูกและข้อ ในพื้นที่อีสานตอนเหนือ และเปิดหอผู้ป่วยพิเศษชนิดซุปเปอร์วีไอพี บรรยากาศสบายเหมือนอยู่บ้าน ในปี 2555-6 จะพัฒนาเป็นศูนย์เฉพาะทางรักษาโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับอีก 1 คลินิก   

วันนี้( 18 มกราคม 2555 ) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดแพรคลุมป้ายอาคารผู้ป่วยพุทธบารมี พระสุก พระเสริม พระใส สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)โรงพยาบาล(รพ.)สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย  โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เมตตาเจิมป้ายอาคาร ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาด 30 เตียง ค่าก่อสร้างและเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ได้จากเงินบริจาค จากประชาชนทั้งชาวไทยทั้งในและนอกจังหวัดหนองคาย วัดโพธิ์ชัย(พระอารามหลวง) และประชาชนลาว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2554  
          นายวิทยา กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 21 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงพยาบาลชุมชนกลุ่มพิเศษ ที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายมุ่งมั่นพัฒนาให้เป็นศูนย์บริการตรวจรักษาประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร อย่างสมบูรณ์แบบ ให้สมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สำหรับที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ซึ่งขณะนี้เป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียงและอยู่ติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีนโยบายพัฒนาให้เป็นเป็นศูนย์รักษาโรคนิ่วทั้งนิ่วถุงน้ำดี และนิ่วในไต ซึ่งประชาชนในภาคนี้รวมทั้งชาวลาวเป็นกันมาก รักษาผ่าตัดโรคกระดูกและข้อ และโรคไตวาย ในแถบอีสานเหนือ ซึ่งขณะนี้สามารถเปิดให้บริการได้ทั้งหมด เนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา และในปี 2555 -6 จะเพิ่มให้เป็นศูนย์รักษาโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งโรคนี้มักพบในคนอ้วนและนอนกรน โดยเปิดเป็นคลินิกนิทราเวชศาสตร์ นับเป็นแห่งที่ 2 ของภาคอีสาน แห่งแรกอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น          
ทางด้านนายแพทย์วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลฯเปิดให้บริการทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีบริการฝังเข็มรักษาอาการปวดเมื่อย ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้เช่นเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เครื่องสลายก้อนนิ่วในไตโดยไม่ต้องผ่าตัด การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีสมัยใหม่ผ่านทางกล้องวิดีทัศน์ ซึ่งผู้ป่วยประมาณร้อยละ 95 รักษาด้วยวิธีนี้ ได้ผลดี สามารถกลับบ้านได้ภายใน 48 ชั่วโมง การพัฒนาบริการดังกล่าว เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในโครงการ 30 บาท ได้เข้าถึงบริการ โดยมีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 200,000 ราย เป็นชาวลาว 4,000 ราย ผู้ป่วยใน 13,000 ราย เป็นชาวลาว 500 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาผ่าตัดรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งทางโรงพยาบาลเก็บค่ารักษาเท่าคนไทย โดยอัตราการครองเตียงสูงถึง 168 เปอร์เซ็นต์ 

 นายแพทย์วัฒนากล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาบริการผู้ป่วยใน โรงพยาบาลฯได้จัดหอผู้ป่วยพิเศษ 2 อาคาร รวม 60 เตียง ตกแต่งภายในสไตล์อีสาน สุขสบายคล้ายรีสอร์ท และมีหอผู้ป่วยพิเศษชนิดซุปเปอร์วีไอพี ออกแบบห้องพักทันสมัยแบบตะวันตก ไม่ซ้ำแบบกัน ซึ่งบรรยากาศใหม่ๆเหล่านี้จะส่งผลทางด้านจิตวิทยา ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยผลการประเมินความพึงพอใจประชาชนผู้ใช้บริการล่าสุดในปี 2554 ได้คะแนน 4.09 จากเต็ม5คะแนน ในปีนี้ได้เปิดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์หัวใจสิริกิติ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตรวจรักษานอกเวลาราชการเดือนละ 2 ครั้ง

                                                                                           ******************18 มกราคม 2555



   
   


View 10    18/01/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ