กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ประชาชนไทยพาบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งแรงงานต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี  ไปรับการหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอฟรีครั้งที่ 2 ที่สถานบริการของรัฐทุกแห่งในวันที่ 18 มกราคม 2555 เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรค

                 นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันพรุ่งนี้ ( วันที่ 18 มกราคม 2555) กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป็นวันรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในกลุ่มเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มเด็กต่างชาติที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1 ล้าน 3 แสนคน ครั้งที่ 2 พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มภูมิต้านโรคโปลิโอ หลังจากที่หยอดพร้อมกันครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา     ขอให้ประชาชนพาบุตรหลานเข้ารับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขได้ฟรี เด็กที่เคยหยอดวัคซีนชนิดนี้มาแล้ว สามารถหยอดซ้ำได้อีก ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด    ในส่วนของประชาชนที่อยู่ใน 5 จังหวัดคือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี และกรุงเทพมหานคร  กำหนดให้ไปรับบริการในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555   โดยได้เตรียมวัคซีนไว้บริการจำนวน 3.5 ล้านโด๊ส 
    
  นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโรคโปลิโอมากว่า 14 ปีแล้ว โดยพบผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายในประเทศไทยเมื่อพ.ศ.2540 แต่เนื่องจากยังพบการระบาดของโรคโปลิโอในหลายประเทศ  ซึ่งในปี 2554 นี้ มีประเทศที่ยังคงมีโรคโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่นอยู่ 4 ประเทศ คือ ปากีสถานพบผู้ป่วย 161 ราย  อัฟกานิสถาน 58 ราย  ไนจีเรีย 45 ราย และอินเดีย 1 ราย  รวมทั้งหมด 265 ราย และยังพบอีกว่าเชื้อนี้สามารถแพร่ไปยังประเทศอื่นที่เคยปลอดจากโรคโปลิโอมาแล้ว    ล่าสุดในปีที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วยในมณฑลซินเจียง ประเทศจีน ซึ่งไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมากว่า 10 ปี 
 
 ทั้งนี้โรคโปลิโอ เป็นโรคติดต่อ เกิดจากเชื้อไวรัส  มักเกิดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีเนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ   โรคนี้ติดต่อโดยผ่านทางมือหรือปนเปื้อนในอาหารที่เรากินเข้าไป โดยเชื้อนี้จะปนออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ   ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้    อาการของผู้ที่ติดเชื้อโปลิโอ คือ จะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีอาการตึงกล้ามเนื้อที่คอด้านหลัง ลำตัวและขา ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะเกิดการอัมพาตของแขนหรือขา ในบางรายที่อาการรุนแรงมากอาจมีการอัมพาตของกล้ามเนื้อกระบังลมทำให้เสียชีวิตได้
*************************     17 มกราคม 2555


   
   


View 12    17/01/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ