ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเตือนประชาชนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงให้เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉลองปีใหม่ ชี้มีโอกาสเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกได้   เผยผลการตรวจสุขภาพในปี  2553 พบคนไทยเป็นโรคเบาหวาน  และโรคความดันโลหิตสูงรวม 4 ล้านกว่าคน  ไขมันในเลือดสูงอีก 8 ล้านกว่าคน 

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวันมักมีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง หรือในหมู่ญาติทุกงานมักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องไม่ขับรถ กลุ่มประชาชนที่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงโรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง    เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตกได้ อาจเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ เนื่องจากร้อยละ 95ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป จะซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอย่างรวดเร็วฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะไปขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้นและอาจทำให้เส้นเลือดแตกได้  
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดรณรงค์ตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชนอายุ 35ปีขึ้นไปทั่วประเทศในปี 2553 พบผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานรวม 4 ล้านกว่าคน  นอกจากนี้ ยังพบผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงอีกกว่า 8ล้านคนจากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศยืนยันตรงกันว่าผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองแตกมากกว่าคนปกติ 3-17เท่า เบาหวานเพิ่มความเสี่ยง 3เท่า การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยง 2เท่าไขมันในเลือดสูงเพิ่มความเสี่ยง 1.5เท่าหากมีหลายโรคร่วมกันโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณซึ่งจากสถิติปี 2553มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 17,540รายขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 13,777ราย
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่าขอให้ประชาชนที่ใช้ยวดยานพาหนะในการเดินทาง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วห้ามขับขี่รถทุกประเภทเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจราจรได้ง่าย เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานของสมอง  โดยหากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หากระดับแอลกอฮอล์เกิน 100มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีอาการมึนเมา เดินโซเซทรงตัวไม่ได้ เกิน 200มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีอาการสับสน และหากดื่มหนักมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะหมดสติและอาจเสียชีวิตได้
 ********************************** 31 ธันวาคม 2554


   
   


View 12    31/12/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ