รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับทีมแพทย์รับมืออุบัติเหตุจราจรตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ เส้นทางเอเชีย พหลโยธิน มิตรภาพ สุขุมวิท ประชาชนโทรแจ้งได้ที่สายด่วน 1669 ฟรี พร้อมแนะประชาชนดูแลความปลอดภัยชีวิตตนเอง โดยคาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่ ไม่ขับเร็ว ดื่มแล้วไม่ขับ ง่วงไม่ขับ และงดกินยาที่จะทำให้มีอาการง่วงนอนเช่น ยาแก้ไอยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาคลายเครียด
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2555 นี้ ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน ประชาชนจะออกเดินทางทั้งไปท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ทำให้มีอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติประมาณ 2 เท่าตัว จากการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย ในปีใหม่ 2554 พบว่าสาเหตุเกิดจากเมาสุราร้อยละ 41 และจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ได้รายงานผลการเฝ้าระวังผู้บาดเจ็บรุนแรงในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 29 แห่งทั่วประเทศ ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2554 พบว่าในกลุ่มที่บาดเจ็บสาหัส เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ร้อยละ 84 ที่น่าสนใจพบว่าในกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตที่ใช้รถจักรยานยนต์ มีการสวมหมวกกันน็อค ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายที่ศีรษะ น้อยมาก ในผู้ขับไม่สวมร้อยละ 87 ส่วนคนซ้อนท้ายไม่สวมร้อยละ 94 ถ้าเป็นผู้ใช้รถยนต์ก็ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นประเด็นสำคัญที่ประชาชนต้องใส่ใจดูแลตนเองเป็นหลัก นอกเหนือจากมาตรการของรัฐบาล
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ทีมแพทย์ เตรียมความพร้อมบริการตลอด 24ชั่วโมง โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ เช่น จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งที่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และถนนเส้นทางหลักได้แก่ ถนนเอเชีย ถนนมิตรภาพ ถนนพหลโยธิน ถนนสุขุมวิท เนื่องจากจะมีปริมาณรถมากกว่าปกติ ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ซึ่งมีทั้งหมด 300 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง ทีมแพทย์ฉุกเฉินพร้อมให้บริการ 3 เร็ว 2 ดี และให้กรมควบคุมโรคตรวจสอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร้านสะดวกซื้อ ปั้มน้ำมัน ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอให้ประชาชนที่เดินทาง ในช่วง 7 วันอันตราย วันที่ 29 ธันวาคม 2554 – 4 มกราคม 2555 ให้ดูแลตนเองใน 5 เรื่อง เพื่อป้องกันเกิดอุบัติเหตุ หรือลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ได้แก่ 1.ถ้าขับรถหรือนั่งรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง 2. ผู้ที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์และซ้อนท้าย ต้องสวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง 3.เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดแล้วห้ามขับรถอย่างเด็ดขาด 4.อย่าขับรถเร็ว 5.ก่อนขับรถ ห้ามกินยาบางประเภทที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่นยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอยาคลายเครียด ยาคลายกล้ามเนื้อเป็นต้น โดยระหว่างขับรถ หากรู้สึกง่วง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการหลับใน ขอให้เปลี่ยนคนขับแทนหรือให้หยุดพัก ควรหยุดพักประมาณ 15 นาที เพราะมีข้อมูลว่า การหลับในแม้เพียง 4 วินาที ก็อาจทำให้บาดเจ็บเสียชีวิตได้ ถ้ารถวิ่งเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยที่ไม่มีคนควบคุมรถ ความรุนแรงของการพุ่งชนจะเทียบได้กับการตกตึกสูงถึง 10 ชั้น
****************************** 29 ธันวาคม 2554
View 18
29/12/2554
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ