รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่ลุยน้ำท่วม ย่ำดินโคลน หากมีบาดแผล เสี่ยงเป็นบาดทะยัก แนะผู้ที่มีบาดแผลถูกของมีคม เศษวัสดุต่างๆ บาด หรือทิ่มตำ ให้ไปรับการฉีดวัคซีนที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สถานีอนามัย และโรงพยาบาลใกล้บ้านฟรีในช่วงน้ำท่วมนี้
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลยังอยู่ในระยะที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนใหญ่สภาพน้ำเน่าเสีย ส่วนในต่างจังหวัดหลายพื้นที่น้ำเริ่มลด ประชาชนเริ่มกลับเข้าไปทำความสะอาดบ้าน ซึ่งอาจเกิดบาดแผลได้ง่าย จากถูกเศษของมีคมบาด หรือทิ่ม ตำ โดยเฉพาะมือและเท้า ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำท่วมและดินโคลนเข้าทางบาดแผล ซึ่งนอกจากจะทำให้แผลติดเชื้อ อักเสบ เป็นหนอง เป็นโรคฉี่หนู และยังทำให้เกิดโรคบาดทะยัก ซึ่งอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเสียชีวิตในช่วงน้ำท่วมนี้ ได้มอบนโยบายให้สถานีอนามัยและโรงพยาบาลทุกแห่ง ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่มีบาดแผลถูกของมีคมบาด หรือถูกตะปู เศษแก้ว เศษไม้ทิ่มตำ ฟรี พร้อมสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคจากน้ำท่วม และอันตรายขณะทำความสะอาดบ้านเรือน
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคบาดทะยัก เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่าคลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium tetani) พบได้ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง โดยจะติดอยู่ตามพื้นดิน ต้นหญ้าเชื้ออยู่ในรูปของสปอร์ อยู่ได้นานหลายเดือนหรือเป็นปี เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยเฉพาะแผลที่ลึกอากาศเข้าไปได้ไม่ดี เช่นแผลถูกตะปูตำ เศษวัสดุต่างๆ เศษแก้ว เศษไม้บาด ทิ่มแทง หรือแผลถลอกกว้างๆ หลังติดเชื้อประมาณ 5-14 วันบางรายอาจนานถึง 1 เดือน จะเกิดอาการเริ่มแรกคือขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ คอแข็ง จากนั้น 1-2 วันจะเริ่มมีอาการเกร็งที่หลัง แขน ขา ทำให้ยืน เดินหลังแข็ง ก้มหลังหรืองอแขนงอขาไม่ได้ ใบหน้าจะมีลักษณะคล้ายแสยะยิ้ม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ต่อมาจะมีอาการกระตุก ถ้ามีเสียงดังหรือถูกจับต้องตัวจะเกร็งและกระตุกมากขึ้น หลังแอ่น หน้าเขียว หากอาการรุนแรงมากอาจทำให้หายใจลำบากและเสียชีวิตได้
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยบาดทะยักจากน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องลุยน้ำท่วม ย่ำดินโคลนบ่อยๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นได้ง่าย และหากปล่อยจนเกิดอาการแล้วมักจะเสียชีวิต แต่สามารถป้องกันได้ง่ายโดยการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปกติทุกคนจะได้รับการฉีดตั้งแต่เด็ก แต่จะต้องได้รับการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี และจะมีภูมิคุ้มกันต่อไปอีก 10 ปี
สำหรับประชาชนที่กลับเข้าไปทำความสะอาดบ้าน ขอให้สวมถุงมือยาง รองเท้าบู๊ทยาง หากไม่มีให้สวมถุงพลาสติกหุ้มปลายเท้าและสวมรองเท้าทั่วไปทับ เพื่อป้องกันไมให้เกิดบาดแผลหรือเชื้อโรคเข้าสู่แผล แต่หากมีบาดแผล ขอให้ทำความสะอาดแผลทันที โดยล้างน้ำสอาดฟอกสบู่ เพื่อเอาเศษดินออกจากแผลให้มากที่สุด เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อโรค เช่นแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซนต์ ทารอบๆ แผล หรือใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนใส่แผลสด แล้วรีบไปพบเจ้าหน้าที่ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อทำแผล และพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักตามความเหมาะสม
******************************** 17 พฤศจิกายน 2554