วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2554) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเดินหน้าให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เน้นหนักในจังหวัดที่อยู่ในระยะน้ำเริ่มท่วม หรือมีน้ำท่วมขัง เช่น กทม. และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร โดยจัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัย ทั้งที่อยู่ในศูนย์พักพิงและตามบ้านทุกวัน  

  ในส่วนของพื้นที่ กทม. ซึ่งมีผู้ประสบภัยจำนวนมาก และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมขัง ได้ร่วมกับ กทม. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากต่างจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ เพื่อกระจายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงยากเนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาผู้ป่วยเรื้อรังขาดยาเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถไปโรงพยาบาลตามนัดได้หรือยาที่ใช้อยู่ใกล้หมด  ในวันนี้ออกปฏิบัติงานใน 9 เขต รวม 12 ทีม ได้แก่ 1.เขตสายไหม ที่เคหะออมเงิน และถนนสุขาภิบาล 70 -ดอนเมือง 2.เขตบางพลัดที่วัดดาวดึงส์ แยกอรุณอัมรินทร์ วัดรวก และบางยี่ขัน 3.เขตตลิ่งชันที่บิ๊กซี เพชรเกษม1และ2 4.เขตภาษีเจริญที่แยกบางแวก-ราชพฤกษ์ รร.วัดโคนอน วัดอินทราราม 5.เขตบางกอกน้อยที่ซอยจรัลสนิทวงศ์ 25 6.เขตหนองแขมที่สน.หนองแขมและรร.ประชาบำรุงนุเคราะห์ 7.เขตบางแคที่หมู่บ้านเศรษฐกิจและหน้ารร.อัสสัมชัญธนบุรี 8.เขตดอนเมืองที่แยกทางด่วนศรีสมาน และดอนเมืองโทลเวย์ และ9.เขตทวีวัฒนาที่ศูนย์พักพิงวิทยาลัยนาฏศิลป์ พร้อมนำยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นยารักษาโรคหัวใจ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ให้เพียงพอสำหรับผู้ป่วยใช้ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน 
 
นายวิทยากล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่น้ำเริ่มลดหรือเข้าสู่ระยะฟื้นฟู รับผิดชอบดูแลให้โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข กลับมาเปิดบริการประชาชนโดยเร็วที่สุด ฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ประสบภัย ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการป้องกันควบคุมโรค
    
  ด้าน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการเยียวยาบริการปฐมภูมิถึงบ้านและครัวเรือนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนัก นำร่อง  7 จังหวัด คือ อยุธยา ลพบุรี นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี นครสวรรค์ และนครปฐม โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอจากจังหวัดในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ  จัดทีมเคลื่อนที่ลงดำเนินการฟื้นฟูในตำบลที่ได้รับผลกระทบหนัก เน้นในกลุ่มประชาชนและผู้ป่วยที่อยู่นอกศูนย์พักพิง ที่ติดอยู่ตามบ้าน ผู้พักพิงริมถนน พักพิงในวัด ทั้งดูแลสุขภาพกายและจิต พร้อมทั้งดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและป้องกันควบคุมโรค ช่วยให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รพ.สต.และฟื้นฟูรพ.สต.ให้กลับมาให้บริการได้ตามปกติ ทีมละประมาณ 7-8 คน ดูแล  1 อำเภอปฏิบัติการต่อเนื่องถึงสิ้นปี หรือจนกว่าจะสถานการณ์จะกลับมาสู่ปกติ
 
   สำหรับผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่กทม. 8 เขตรวม 15 จุด มีผู้รับบริการ 1,801 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมทั้งในต่างจังหวัดรวมทั้งหมด 1,594,671 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า มีบาดแผลที่เท้า โดยเริ่มพบแผลอักเสบติดเชื้อมากขึ้น
 
                                                                                                                                                  ************************ 11 พฤศจิกายน 2554
 


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ