สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 193 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยการส่งผู้ป่วยหนักที่มีอาการคงที่จาก กทม. ไปโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเป็นไปตามเป้าหมาย ส่งแล้ว 340 รายทุกรายปลอดภัย ที่เหลืออีก 33 รายจะส่งให้เสร็จภายในวันนี้ เร่งให้การดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงและที่ยังติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกทม.
วันนี้ (29 ตุลาคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ว่า วานนี้ (28 ตุลาคม 2554) กระทรวงสาธารณสุข ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักออกจากโรงพยาบาลในกทม. ไปยังจังหวัดใกล้เคียงที่น้ำไม่ท่วม 60 ราย รวมส่งตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จำนวน 340 รายทุกรายปลอดภัยและได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลืออีก 33 รายจะส่งในวันนี้ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจในการย้ายผู้ป่วยหนักที่มีอาการคงที่รอบแรกภายในวันนี้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ได้ให้มีการประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลทั้ง 5 สังกัดในพื้นที่กทม.ต่อเนื่องทุกวัน และทำหนังสือสั่งการไปยังจังหวัดปลายทางที่รับผู้ป่วย เพื่อเตรียมการหากมีผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องย้ายไปต่างจังหวัดในรอบต่อไป
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญ คือการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยทั้งที่อยู่ในศูนย์อพยพ และที่ยังติดอยู่ตามบ้าน ซึ่งมีผู้ประสบภัยจำนวนมาก ในขณะนี้เน้นหนัก 3 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี และปทุมธานี ได้ให้จังหวัดที่น้ำไม่ท่วมส่งทีมแพทย์พยาบาลไปดูแลพื้นที่ที่ศูนย์ฯมอบหมายให้ โดยหลักการจะจัดหน่วยแพทย์หรือโรงพยาบาลสนามในศูนย์พักพิงที่มีขนาดใหญ่เกิน 500 คนขึ้นไป พร้อมออกหน่วยดูแลผู้ประสบภัยตามบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียง ส่วนศูนย์พักพิงใน 9 จังหวัดที่ศปภ.จะย้ายคนในกทม.ออกไปอยู่ ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดหน่วยแพทย์หรือโรงพยาบาลสนามตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า ที่น่าเป็นห่วงมากคือผู้อพยพที่อยู่ในศูนย์พักพิงขนาดเล็กหรือที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกทม.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการวันละ 1-2 จุดต่อ 1 ทีม รวมทั้งปรับระบบบริการ โดยจะรับสมัครอาสาสมัครช่วยดูแลสุขภาพตามคู่มือการดูแลสุขภาพเบื้องต้น พร้อมมียาและเวชภัณฑ์ให้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถพึ่งพาตนเองในเบื้องต้นได้ หากเกินขีดความสามารถให้โทรขอความช่วยเหลือที่หมายเลข 1669 เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป โดยจะมีหน่วยแพทย์ออกไปติดตามดูแลทุก 1 สัปดาห์
ด้านนายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการให้บริการทางการแพทย์ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจรักษา พบผู้ประสบภัยเจ็บป่วยรวม 782,705 ราย ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตพบผู้มีความเครียด107,545 ราย ในจำนวนนี้เครียดสูง 5,329 ราย มีอาการซึมเศร้า 6,301 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 903 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 1,408 ราย
***************************** 29 ตุลาคม 2554