สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 647 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ยอดผู้ประสบภัยมีความเครียดพุ่งเกินกว่า 1 แสนราย เร่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจประเมินค้นหาผู้มีความเสี่ยงและจัดแผนเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างทั่วถึง ด้านจิตแพทย์แนะผู้ประสบภัยให้ช่วยกันสังเกตอาการบุคคลในบ้านหรือเพื่อนบ้าน หากมีอาการ 8 ข้อ เช่นสับสน คิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นความฝัน บ้านถูกน้ำท่วมเสียหายแต่คิดว่าบ้านยังดีอยู่ ติดตาภาพขณะตนเองและครอบครัวหนีน้ำท่วม หรือมีอาการเฉยเมย ฝันร้าย ถือเป็นสัญญาณอันตราย ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลด่วน
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลผลกระทบทางจิตใจของผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมกว่า 9 ล้านคน ซึ่งผลกระทบมากน้อยขึ้นอยู่ความเสียหายที่เกิดขึ้น น้ำท่วมในปีนี้คาดว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ บางพื้นที่อาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลัก ในการเฝ้าระวังเร่งประเมินหาผู้ที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต และจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงทางจิตใจ โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตาย จากข้อมูลล่าสุดผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตประชาขณะนี้ พบว่ามีอาการเครียด 107,101 ราย ซึมเศร้า 6,214 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 878 ราย และมีผู้ที่ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด 1,356 ราย
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดทำกรอบการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภัย ทั้งผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิง และผู้ที่อยู่ในชุมชนและยังอยู่ในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม โดยการดูแลในระยะ 72 ชั่วโมงแรกหลังเกิดน้ำท่วม ซึ่งผู้ประสบภัยจะตื่นตัวเพื่อเอาชีวิตรอด รวมทั้งการขนย้ายสิ่งของ จะเน้นการจัดบริการภายใต้ภาวะวิกฤติฉุกเฉิน โดยจัดบริการปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ตรวจคัดกรองประเมินปัญหาสุขภาพจิต รายใดที่มีปัญหาจะส่งพบผู้เชี่ยวชาญ ทีมสุขภาพจิตเพื่อดูแลต่อเนื่อง ให้บริการปรึกษาคลายเครียดทั้งรายกลุ่มและบุคคล จัดกิจกรรมคลายเครียด เช่น การนวดสัมผัส การฝึกลมหายใจซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าได้ปลดปล่อยความเครียดออกไปจากตัว นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้ประสบภัยในจุดพักพิงร่วมกับแกนนำและชุมชน เช่น ดูแลผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น เครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ตั้งเป้าดำเนินการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตและให้การดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
ทางด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความเครียดในภาวะวิกฤติ จะค่อยๆหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป มีบางคนที่อาการไม่ลดลงตามกาลเวลา ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต จะต้องช่วยกันระมัดระวัง อาการที่เป็นสัญญาณอันตรายที่ควรระวัง มี 8 อาการดังนี้ 1.อาการสับสนหรือแยกส่วนอย่างรุนแรง เช่นคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นความฝัน ไม่ได้เกิดขึ้นจริง บ้านถูกน้ำท่วมเสียหายแต่คิดว่าบ้านยังคงอยู่ น้ำไม่ได้ท่วมบ้าน 2.การย้อนกลับไปสู่ประสบการณ์เดิม ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วมอีกครั้ง จำภาพที่ตนเองและครอบครัวหนีภัย ฝันร้าย ย้ำคิดเรื่องเดิมๆ
3.หลีกหนีสังคม เฉยเมย ไม่อยากพบหรือพูดกับใคร ไม่ออกจากบ้าน 4.ระบบประสาทถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว เช่นมีอาการตื่นกลัวจนเกินเหตุ ฝันร้าย 5.วิตกกังวลมากจนทำอะไรไม่ได้ เช่นครุ่นคิด วิตกกังวล หวาดกลัวอย่างรุนแรง 6.ซึมเศร้า เช่นหมดความรู้สึกสนุกสนาน รู้สึกตนเองไร้ค่า ตำหนิตนเอง พึ่งพาผู้อื่น 7.ดื่มสุราหรือใช้สารเสพติด และ8.มีอาการทางจิต เช่นหลงผิด ประสาทหลอน หากพบว่าคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านมีอาการที่กล่าวมา ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหน่วยแพทย์ที่อยู่ใกล้ เพื่อให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยเร็ว
*********28 ตุลาคม54