สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 654 View
- อ่านต่อ
จากกรณีที่เมื่อเวลาประมาณช่วงดึกเมื่อคืนวานนี้ (25 ตุลาคม 2554) คันดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ ที่อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีรอยรั่วเป็นเหตุให้น้ำไหลทะลักเข้ามาในพื้นที่ ที่ท่วมโรงงานผลิตน้ำมันพืช ทำให้เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลปะปนมากับน้ำ มีผู้รับบาดเจ็บจากการสูดดมสารพิษ 5 ราย นำตัวส่งโรงพยาบาลชลประทานรังสฤษดิ์ ประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงต้องอพยพออกนอกพื้นที่กลางดึกนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ได้มอบหมายให้ นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ไปดูแลอาการของผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ และได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ลงไปตรวจสอบที่โรงงานดังกล่าวว่าเป็นสารเคมีชนิดใด เพื่อวางแผนในการป้องกันผลกระทบต่อไป
นายวิทยากล่าวว่า ผลการตรวจสอบได้รับรายงานมีผู้ป่วยทั้งหมด 5 ราย เป็นครอบครัวที่อาศัยอยู่ห่างจากกองกากถั่วเหลืองและวัตถุดิบของโรงงานผลิตน้ำมันพืช ประมาณ 4 เมตร และสูดดมก๊าซมีเทนซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างกองกากถั่วเหลืองกับน้ำหลังจากที่พนังกั้นน้ำคันดินพัง ไม่ใช่เป็นสารพิษรั่วไหล หรือเกิดจากกระบวนการผลิตแต่อย่างใด ผู้ป่วยทั้ง 5 ราย เป็นผู้หญิง 2 ราย ชาย 2 ราย และเด็กชายอายุ 7 ปี 1 ราย มีอาการที่เกิดจากการสูดก๊าซมีเทนเข้าไป โดย 3 ราย มีอาการแน่นหน้าอก ระคายเคืองตาเล็กน้อย อาการดีขึ้นแพทย์กลับบ้านได้ ส่วนอีก 2 รายแพทย์ให้นอนโรงพยาบาล เป็นเด็ก 1 ราย มีอาการอ่อนเพลีย ขณะนี้อาการดีขึ้น รับประทานอาหารได้ อีก 1 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 45 ปี อาการหนัก ไม่รู้สึกตัว นอนในห้องไอซียู รายนี้มีโรคประจำตัวคือมะเร็งเม็ดเลือดขาว สภาพร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว และในช่วงที่เดินทางออกจากพื้นที่การเดินทางยากลำบากมาก ระยะทางไกล 1 กิโลเมตร
ปัญหาก๊าซมีเทนขณะนี้ไม่ได้ขยายวงกว้าง ซึ่งปกติก๊าซมีเทนนี้มีอยู่ในกองขยะทั่วๆไปอยู่แล้ว จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กองขยะดังกล่าวสบายใจได้ นายวิทยากล่าว
ทางด้านนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้นำทีมจากกรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแทพย์ ลงตรวจสอบพื้นที่ เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณรอบที่เก็บกากถั่วเหลืองและกากวัตถุดิบของโรงงานผลิตน้ำมันพืชมาตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีอื่นๆ พร้อมทั้งวินิจฉัยชนิดของก๊าซจากการดมกลิ่น สภาพการเกิดก๊าซ และสัมภาษณ์ผู้สัมผัส ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นก๊าซ 3 ชนิด ได้แก่ ก๊าซมีเทน แอมโมเนีย และไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า และได้เฝ้าระวังอาการผู้ป่วยทั้ง 5 ราย พร้อมค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ โดยตรวจและดูแลผู้สัมผัสกับก๊าซดังกล่าว 200 คน นอกจากนี้ได้ประสานงานกับโรงพยาบาลชลประทานรังสฤษดิ์ส่งตัวอย่างเลือดของหญิงอายุ 45 ปีที่มีอาการหนัก ส่งตรวจวิเคราะห์สารพิษที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลรามาธิบดี
นายแพทย์นพพรกล่าวต่วว่า ก๊าซทั้ง 3 ชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก๊าซจะไปขัดขวางการขนส่งออกซิเจนในเลือดทำให้เกิดอาการมึนงง แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และระคายเคืองเยื่องบุตา จมูก ทำให้แสบตา น้ำตาไหล แสบจมูก แต่ไม่สะสมในเลือดจะขับออกจากร่างกายทางการหายใจ และจะกลับมาเป็นปกติได้ แต่อย่างไรก็ดี หากหญิงตั้งครรภ์สูดก๊าซไข่เน่าเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
*************************** 26 ตุลาคม 2554