ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันกระทรวงสาธารณสุข มียาและเวชภัณฑ์เพียงพอให้บริการแก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะนี้มียาสำรองใช้ได้ 3 เดือน แนะประชาชนที่อาศัยในบ้านที่น้ำท่วม หากมีโรคประจำตัวให้สำรองยาเพิ่มไว้ไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินสถานการณ์อุทกภัยเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องยาและเวชภัณฑ์ เพราะยังมีโรงงานยาแห่งอื่นอีกหลายแห่งที่ไม่ถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เชิญหน่วยงานเอกชน องค์การเภสัชกรรม และตัวแทนผู้ให้บริการ มาร่วมประชุมปรึกษาหารือเรื่องการดูแลสำรองยา เวชภัณฑ์ และเซรุ่ม ในช่วงเช้าวันนี้ ได้มอบเลขา อย. ดูแลเรื่องการบริหารจัดการยาทั้งหมด รวมถึงการขนส่ง ขณะนี้ประเมินแล้วว่ายังมีสำรองไว้ใช้ได้อีกถึง 3 เดือน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ในช่วงน้ำท่วม 2 เดือนนี้ กระทรวงสาธารณสุขสามารถบริหารจัดการยาได้ ไม่มีปัญหายาขาดแคลนอย่างแน่นอน นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ส่วนประชาชนที่ไม่ต้องการอพยพออกจากบ้าน ขอแนะนำให้เตรียมปัจจัย 4 ไว้ให้พร้อม หากเป็นมีโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาประจำ ให้ขอยามาสำรองเพิ่มไว้อีกไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ ขอให้ระวังเรื่องโรคระบาด ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด ที่ศูนย์พักพิง และชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งโรคระบบทางเดินอาหาร โรคฉี่หนู โดยได้มอบให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค ดูแลจัดการเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ขยะ อาหารและน้ำ รวมทั้งให้กรมควบคุมโรคดูแลด้านสุขภาพจิตแก่ผู้อพยพอย่างต่อเนื่อง ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลผู้ประสบภัยรวม 6,732 ครั้ง มีผู้รับบริการ 728,072 ราย ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้า ปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัด โรคผิวหนัง และปวดศีรษะ ส่วนด้านสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตได้คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตใน 37 จังหวัด รวม 97,534 ราย พบมีความเครียดสูง 4,210 ราย มีภาวะซึมเศร้า 5,882 ราย มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 807 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 1,237 ราย ******************************* 25 ตุลาคม 2554


   
   


View 12    25/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ