รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยจำนวนผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมขณะนี้พุ่งขึ้นกว่า7.2 แสนราย แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดบริการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะปกติ และกำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อ ให้อย.และองค์การเภสัชกรรมสำรองยา เวชภัณฑ์ให้พร้อม พร้อมทั้งให้ควบคุมคุณภาพราคายาด้วย ยันจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนยารักษาโรค
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่หมุนเวียนให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่องวันละกว่า200 ทีม และปรับรูปแบบบริการให้เหมาะกับสถานการณ์เพื่อให้เข้าถึงประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม จนถึงขณะนี้พบว่าจำนวนผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมที่รับบริการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่มี 728,072 ราย ปัญหาอันดับ1 คือโรคน้ำกัดเท้า หากประชาชนที่ได้รับยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว และยาหมด สามารถขอรับได้ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทุกแห่ง โดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดังกล่าวจะให้บริการจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ และกำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อ
นายวิทยากล่าวต่อว่า ในส่วนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบสร้างความปลอดภัยให้ผู้ป่วยขั้นสูงสุดไว้แล้ว โดยเตรียมโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลและโรงพยาบาลที่อยู่รอบนอกเพื่อรองรับผู้ป่วยหากโรงพยาบาลในกทม.และปริมณฑลถูกน้ำท่วม ซึ่งการย้ายผู้ป่วยครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าน้ำจะท่วมกทม.ทั้งหมด ประชาชนไม่ต้องตกใจ ขอย้ำว่าเป็นกระบวนการสร้างความปลอดภัยผู้ป่วยทุกราย และจะไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนยาอย่างแน่นอน โดยได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และองค์การเภสัชกรรม จัดการสำรองยาและเวชภัณฑ์ให้พร้อมทั้งหมด และควบคุมคุณภาพราคายาด้วย
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารรณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 22-23 ตุลาคม 2554 ส่งไปแล้ว 126 ราย ใน 3 จังหวัดคือ นครราชสีมา สระบุรีและชลบุรี จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากโรงพยาบาลเสี่ยงถูกน้ำท่วม และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ซึ่งเสี่ยงจะถูกน้ำท่วมด้วย โดยได้ให้โรงพยาบาลต่างจังหวัดสำรองเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งหนักและปานกลาง ไม่ต่ำกว่า 2,000 เตียง ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่มีมาตรฐาน
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในส่วนของการขัดบริการฉุกเฉินที่ย่านอ.บางบัวทอง และอ.บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากทยอยออกจากที่พักอาศัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งหน่วยแพทย์ประจำการที่จุดอพยพท่าอากาศยานดอนเมือง 1 แห่ง บริการตลอด24 ชั่วโมง ร่วมกับหน่วยแพทย์โรงพยาบาลภูมิพล มีผู้เจ็บป่วยกว่า 100 รายต่อวัน รายใดที่มีอาการรุนแรง จะส่งตัวไปรักษาใน โรงพยาบาลใกล้เคียง ส่วนบนถนนรัตนาธิเบศร์ ได้รับความร่วมมือจากสหคลินิกนนทเวช อยู่ข่างห้างเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ ซึ่งมีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อม ให้กระทรวงสาธารณสุข เปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม 1 แห่ง เพื่อให้การดูสุขภาพผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วยและป่วยฉุกเฉิน โดยได้ระดมทีมแพทย์เฉพาะทางบางโรค เช่น หมออายุรกรรมและหมอเด็ก จากกรมการแพทย์มาช่วย ควบคู่กับแพทย์ทั่วไป โดยมีเตียงสังเกตอาการ 48-72 ชั่วโมงและส่งรักษาต่อไป ทั้งนี้หากผู้ประสบภัยรายใดที่มีโรคประจำตัว เรื้อรังและมีอาการกำเริบ ขอให้ปรึกษาที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้
**********************************************24 ตุลาคม 2554
View 14
24/10/2554
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ