รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ประสานโรงพยาบาลในกทม.ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วม รวมทั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทยอยระบายผู้ป่วยหนักออกจากกรุงเทพมหานครไปอยู่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในต่างจังหวัด ยันประชาชนที่เจ็บป่วยทุกรายจะปลอดภัย ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่อุปสรรคสำคัญด้านการแพทย์ จนถึงวันนี้ย้ายไปแล้วกว่า 100 ราย ประชาชนต้องได้รับการดูแลตามสิทธิประโยชน์ทั้ง 30 บาท ประกันสังคม และข้าราชการ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้ประสานโรงพยาบาลทุกหน่วยงานที่อยู่ในกทม. รวมทั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อทะยอยย้ายผู้ป่วยหนักจากส่วนกลางไปอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในภูมิภาค ตามแผนวงแหวน 3 วงที่เตรียมและซักซ้อม คือในส่วนกลาง แถบปริมณฑล และวงนอกปริมณฑลออกไปซึ่งดำเนินการเป็นกลุ่มเครือข่ายๆละ2-4 แห่ง เช่น ชลบุรี และกลุ่มจังหวัดในภาคกลาง ภาคอีสาน ที่สามารถให้บริการได้ เพื่อรองรับปัญหาที่น้ำเริ่มเข้าท่วมบางพื้นที่ในกทม. และมีโรงพยาบาลหลายแห่งเสี่ยงถูกน้ำท่วม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเกิดสภาวะน้ำท่วมมากเพียงใดก็ตาม ต้องไม่เป็นอุปสรรคด้านการแพทย์และการสาธารณสุข และประชาชนต้องได้รับการดูแลตามสิทธิประโยชน์ทั้ง 30 บาท ประกันสังคม และข้าราชการ โดยได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งสำรองเตียงว่างไว้ 5 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ให้เป็นเตียงผู้ป่วยหนัก 10 เปอร์เซนต์ ในเบื้องต้นนี้เตรียมไว้ประมาณ 1,000 เตียง ในการลำเลียงย้ายผู้ป่วยได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นแกนประสานหลักในการจัดยานพาหนะทั้งเครื่องบินซี 130 และรถพยาบาลฉุกเฉิน ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ได้ย้ายผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยที่พอจะช่วยตัวเองได้บ้างออกจากส่วนกลางไปแล้วกว่า 100 ราย เริ่มตั้งแต่วานนี้ ( 22 ตุลาคม 2554 ) โดยย้ายไปจ.นครราชสีมา จำนวน 58 ราย จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ 50 ราย และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 29 ราย โดยวันนี้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีจะย้ายไปอีก 50 ราย และจะทยอยอออกไปเรื่อยๆ หากเห็นว่าเป็นโรงพยาบาลที่อาจไม่ปลอดภัยจากน้ำท่วม ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขได้ระดมหน่วยแพทย์ พยาบาลจากพื้นที่ ที่น้ำไม่ท่วมจำนวน 38 จังหวัด ไปช่วยในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยแพทย์ประจำโรงพยาบาลสนามต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 28 แห่งในจ.พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี และลพบุรี จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับบริการดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการในศูนย์อพยพต่างๆทุกจังหวัด เน้นการรักษาพยาบาล โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประจำ หากเป็นศูนย์อพยพขนาดใหญ่ที่มีประชาชนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป จะตั้งโรงพยาบาลสนาม บริการ 24 ชั่วโมงเหมือนแผนกผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน และส่งต่อผู้ป่วยหากมีอาการหนัก จัดบริการตรวจคัดกรองให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต จัดกิจกรรมคลายเครียด และดูแลความสะอาดส้วม ขยะ จุดปรุงอาหารในศูนย์อพยพ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ควบคุมป้องกันโรคเหมือนกันทุกแห่ง อนึ่งในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านเพื่อให้ผู้ประสบภัยใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นระหว่างถูกน้ำท่วมไปให้จ.นครปฐม 10,000 ชุด และมูลนิธิเพื่อนพึ่งพาฯ 15,000 ชุด จัดส่งเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์เพื่อให้หน่วยแพทย์ใช้ออกปฏิบัติงานจำนวน 37 ลำ และส่งสารส้มเพื่อปรับสภาพน้ำให้สะอาดให้ จ.พระนครศรีอยุธยา 1,000 กิโลกรัม **************************** 23 ตุลาคม 2554


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ