รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาโรคน้ำกัดเท้าจากน้ำท่วม  ดึงภูมิปัญญาไทยมาใช้    โดยแนะ ใช้สมุนไพรที่หาง่ายใช้สะดวกแบบวิถีไทย   ดูแลรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ดี    โดยเฉพาะสมุนไพรรสฝาด เช่นเปลือกมังคุดแห้ง  ส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลน้ำกัดเท้า แนะนำให้ดื่มน้ำใบบัวบกคั้นแทนน้ำวันละ 4-5 แก้วควบคู่ด้วย จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

นายวิทยา  บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้   น้ำเริ่มเน่าเหม็นมากขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นที่มาของโรคน้ำกัดเท้า  ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 1 ในทุกจังหวัด   โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน  ซึ่งจะเกิดแผลเปื่อยได้ง่าย  ทราบว่ามีสมุนไพรหลายชนิดในครัวเรือน  ที่อาจนำมาใช้ในการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรช่วงน้ำท่วม เพื่อดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้ตามแบบวิถีชีวิตไทย   

ทางด้าน นายแพทย์สุพรรณ  ศรีธรรมมา  อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า  โรคน้ำกัดเท้าในระยะแรกนั้น ยังไม่มีการติดเชื้อรา ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคือง คัน และแสบบริเวณง่ามนิ้ว  จึงควรใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ เช่น ขมิ้นชัน ไพล ใบพญายอ หรือใบว่านมหากาฬ  นำล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด  นำมาพอกบริเวณที่เป็นแผล  เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว  สมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้า มักเป็นสมุนไพรที่มีรสฝาด เนื่องจากมีสารแทนนินมาก มีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้ เช่น เปลือกมังคุดแห้ง นำมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร นำมาทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง หรือง่าย ๆ ใช้สารส้มสะตุที่ได้จากการนำสารส้มไปตั้งไฟให้ร้อนจนกลายเป็นผงขาวฟู  แล้วทาบริเวณที่เป็น วันละ 2-3 ครั้ง โดยอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือผสมกับดินสอพองสะตุครึ่งต่อครึ่งก่อนทา

 นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า  กรณีที่เกิดการติดเชื้อราที่ง่ามเท้า  แนะนำให้ใช้สมุนไพรในท้องถิ่นที่มีสรรพคุณต้านเชื้อรา  เช่น ใบต้นเทียนบ้าน ใบชุมเห็ดเทศ ใบทองพันชั่ง ข่า  ใช้ประมาณ 1 กำมือ นำมาตำพอก หรือทาบริเวณที่เป็น วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน  หรืออาจใช้กระเทียม ซึ่งมีฤทธิ์ดีมากในการฆ่าเชื้อรา แต่มีข้อเสียคือมีกลิ่นแรง  ในการรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรานั้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยสมุนไพรหรือยาแผนปัจจุบันก็ตาม  แม้ว่าอาการจะดีขึ้นจนเหมือนหายดีแล้ว แต่แผลจะยังมีเชื้อราอยู่   จึงต้องทาหรือพอกยาจากสมุนไพรนั้นต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อประสิทธิผลที่ดีขึ้นในการกำจัดเชื้อราให้หมดไป  ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก   และต้องระวังอย่าให้เท้าอับชื้น หรือโดนน้ำสกปรกอีกในระหว่างการรักษา

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องระวังไม่ให้เป็นแผลที่เท้า เพราะรักษาให้หายได้ยาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้สมุนไพรข้างต้นรักษาโรคน้ำกัดเท้า หรืออาจใช้ขมิ้นชันผง หรือขมิ้นชันแคปซูลโรยที่แผลก็ได้  เพื่อเร่งการหายของแผล   และขอแนะนำให้ดื่มน้ำใบบัวบกคั้นร่วมด้วย ดื่มต่างน้ำวันละ 4-5 แก้ว จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยงานวิจัยของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าเมื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า รับประทานสารสกัดบัวบก จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น  เพราะสารสำคัญในบัวบก ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดสะดวกในการใช้มากกว่าการตำพอก และลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้าแผล หากล้างไม่สะอาด แต่ถ้ามีครีมบัวบกที่เป็นยาใช้ภายนอกตามบัญชียาหลักแห่งชาติ  ซึ่งเตรียมอย่างสะอาดมาแล้ว  จะใช้ครีมบัวบกทาแผลร่วมด้วยก็ได้                   

   **************************  20 ตุลาคม 2554



   
   


View 9    20/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ