กระทรวงสาธารณสุข ระดมแพทย์ พยาบาลจาก 16 จังหวัด ช่วยกู้วิกฤติน้ำท่วม 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี โดยกระจายกำลังลงพื้นที่ 3 รูปแบบ ได้แก่ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การตรวจรักษาโรคเฉพาะทางในโรงพยาบาล และตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลผู้ประสบภัยตามจุดพักพิง ตลอด 24 ชั่วโมง และควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มน้ำใช้ในจุดพักพิง  ต้องมีคลอรีนตกค้าง 0.5-1 พีพีเอ็ม

          นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ 27 จังหวัด ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีสถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วมทั้งหมด 463 แห่ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประมาณร้อยละ 20-30 บ้านถูกน้ำท่วมด้วย แต่ทุกคนก็ยังทุ่มเทเสียสละปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

          นายวิทยากล่าวต่อว่า ในการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งมีนับล้านคน  กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมหน่วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่จากจังหวัดที่ไม่ถูกน้ำท่วมหรือท่วมน้อย จำนวน 16 จังหวัดในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และใต้  ไปช่วยเหลือพื้นที่ที่น้ำท่วม  เน้นหนักที่ 5 จังหวัดซึ่งจัดว่าหนักที่สุด ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี  เพื่อกระจายบริการประชาชนให้ทั่วถึงทุกหลังคาเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ปทุมธานี และนนทบุรี ซึ่งมีชุมชนและมีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก โดยจัดใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย  แจกยาสามัญประจำบ้าน ยาผู้ป่วยเรื้อรังตามชุมชนหมู่บ้านซึ่งมีวันละกว่า 100 ทีม  2. ทีมแพทย์เฉพาะทางดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ในกรณีที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ถูกน้ำท่วม ต้องงดบริการชั่วคราว ขณะนี้มี 3 แห่งที่นครสวรรค์และพระนครศรีอยุธยา       และ3.การตั้งโรงพยาบาลสนามในจุดพักพิง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้ว 25 แห่ง บริการตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนในพื้นที่ใดที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 และหากมีปัญหาเครียด วิตกกังวล สามารถโทรของรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลข 1323 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง         

ทางด้านแพทย์ไพจิตร์ วราชิต   ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาด รวมทั้งปัญหาความเครียดของประชาชนในจุดพักพิง โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลทุกแห่ง และมีการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ภายในจุดพักพิง เพื่อป้องกันโรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำดื่มซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม  หรือเกิดภัยพิบัติ  โดยกำหนดให้มีคลอรีนตกค้างในน้ำไม่ต่ำกว่า 0.5-1.0 พีพีเอ็ม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดูแลมาตรฐานจุดเตรียม จุดประกอบอาหารร้อน ต้องอยู่บนโต๊ะสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร และอยู่ห่างจากส้วมไม่น้อยกว่า 20 เมตร กำจัดขยะทั้งขยะเปียก ขยะที่ลอยในน้ำ

*******************************   19 ตุลาคม 2554



   
   


View 15    19/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ