นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้าวันนี้ (18 ตุลาคม 2554) ว่าวันนี้ได้จัดระบบข้อมูลข่าวสาร คือ 1.ระบบข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมต่อจาก ศปภ. ของรัฐบาลกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำข้อมูลของรัฐบาลมาจัดระบบบริการทางการแพทย์ การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เรื่องที่ 2 เพิ่มความเข้มแข็งระบบการประสานงานระหว่างวอร์รูมส่วนกลางกับจังหวัดที่ประสบภัย สามารถให้การสนับสนุนสิ่งช่วยเหลือต่างๆ ทั้งเรือ ยารักษาโรค และทุกอย่างได้เต็มที่มากขึ้น เรื่องที่ 3 คือการจัดทำระบบรายงานข้อมูลสถานการณ์และการจัดระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้บริหารระดับสูงทราบ และ 4.การจัดทำแผนปฏิบัติการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้การดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทั้งที่อยู่ในศูนย์อพยพ และติดอยู่ตามบ้าน  โดยทำ 3 เรื่องพร้อมกันคือ การจัดระบบบริการตรวจรักษาโรค การดูแลสุขภาพจิต และการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไม่ให้มีโรคระบาด ทั้งอาหารและน้ำที่สะอาด ปลอดภัย สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ความสะอาดห้องน้ำห้องส้วม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการระบาดของโรคติดต่อในศูนย์อพยพ พบเพียงโรคท้องเสียเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งได้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมอนามัย เข้าไปดูแลศูนย์อพยพเรื่องอาหารและน้ำ

                 

                 

                 

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ส่วนการจับคู่โรงพยาบาลในพื้นที่น้ำท่วมกับพื้นที่น้ำไม่ท่วมเพื่อดูแลช่วยเหลือกัน ขณะนี้ได้ให้ทุกจังหวัดที่ยังไม่ได้รับผลกระทบแจ้งข้อมูลมาที่วอร์รูมแล้ว ซึ่งวอร์รูมจะทราบความต้องการของจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม และจัดการช่วยเหลือเสริมเข้าไป โดยมีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เข้ามาช่วยดูแล ตามความเหมาะสมกับการเดินทาง เช่น จ.นครสวรรค์มีทีมจากจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก เชียงราย  ส่วนจังหวัดที่อยู่ใต้ลงมาจะให้จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ตึกแถวรุ่งเจริญจะมีจังหวัดราชบุรี ชลบุรี ที่อนุสาวรีย์พระนเรศวรมีทีมจาก รพ.มหาราชนครราชสีมา ที่วังน้อยมีทีมจาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี  ส่วนที่นนทบุรี ขณะนี้ รพ.พระนั่งเกล้าจับคู่กับ รพ.บำราศนราดูร ได้ย้ายไอซียูมาที่ รพ.บำราศนราดูร และที่ รพ.ปทุมธานีเหลือผู้ป่วยไม่หนักประมาณ 120 ราย ส่วนผู้ป่วยหนักได้ส่งไปรักษาที่ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ในกทม.และจังหวัดอื่น ๆ แล้ว

สำหรับในพื้นที่ กทม. มีโรงพยาบาล 5 กลุ่ม ได้แก่ สังกัด 3 เหล่าทัพ และตำรวจ ทบวงมหาวิทยาลัย กทม. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ รพ.เอกชน มีเตียงประมาณ 35,000 เตียง    ได้ให้แต่ละแห่งสำรองเตียงว่างไว้ร้อยละ 5 รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากจังหวัดที่ประสบภัย ซึ่งจะรับได้ประมาณ 1,500 เตียง ในจำนวนนี้เป็นเตียงผู้ป่วยหนักร้อยละ 10 หรือ 150 เตียง แต่หาก รพ.ใน กทม.ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ก็ได้จัดทำแผนการส่งผู้ป่วยกระจายไปยังจังหวัดตามภูมิภาคเช่นกัน

ส่วนศูนย์อพยพที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว รองรับได้ประมาณ 500 คน ขณะนี้ยังไม่มีประชาชนอพยพมา เนื่องจากเป็นศูนย์สำรอง ซึ่งศูนย์ของจังหวัดนนทบุรียังรับเพียงพอ สำหรับการประเมินความเสียหายต้องรอให้น้ำลด แต่คาดว่าไม่เสียหายมาก เนื่องจากได้มีการเตรียมการย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งภายหลังน้ำลดทีมวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะลงสำรวจและฟื้นฟูต่อไป

 *********************************  18 ตุลาคม 2554



   
   


View 13    18/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ