วันนี้ (17 ตุลาคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลต่างๆ ในการดูแลให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชนที่อพยพหรือได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมีแผนฟื้นฟูชัดเจน ทั้งโรงพยาบาลที่ถูกน้ำท่วม การฟื้นฟูด้านสุขภาพจิต และการป้องกันโรคติดต่อในพื้นที่น้ำท่วม และได้ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมดูแลในศูนย์อพยพ จัดกิจกรรมให้ประชาชนได้ผ่อนคลายความเครียด เช่น การประกอบอาหาร การตัดผม เป็นต้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีโรคระบาดในศูนย์อพยพต่างๆ
นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันพบมาก เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยโรคไต ซึ่งจำเป็นต้องฟอกไต แต่มีเครื่องฟอกไตและเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ จำนวนจำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ จัดบริการส่งผู้ป่วยจุดอพยพไปฟอกไตที่โรงพยาบาลต่างๆ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมสำรองยาไว้แล้วไม่ต่ำกว่า 5 แสนชุด ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งยาไปแล้วเกือบ 2 ล้านชุด
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางความพร้อมระบบบริการและการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ที่โรงพยาบาลใหญ่ถูกน้ำท่วม โดยเปิดโรงพยาบาลสนามให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอก/ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง และพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลใกล้เคียงให้มีแพทย์เชี่ยวชาญ สามารถให้การรักษาโรคเฉพาะทางได้ ทั้งสูติกรรม อายุรกรรม ศัลยกรรม และกุมารเวชกรรม ซึ่งจะให้บริการแทนโรงพยาบาลใหญ่ที่ถูกน้ำท่วมในช่วง 2 เดือนนี้ เพื่อกู้โรงพยาบาลที่ถูกน้ำท่วม ให้พร้อมเปิดให้บริการโดยเร็วที่สุด เช่นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มี 2 แห่ง แห่งแรกคือ โรงพยาบาลนวนคร 2 ขนาด 40 เตียง เป็นทีมของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเปิดบริการแล้ว และจะเปิดแห่งที่ 2 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชนครหลวง โดยทีมแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลขอนแก่น และสระบุรี
ขณะเดียวกัน ให้จังหวัดที่ระดับน้ำลดแล้วประเมินความเสียหายแจ้งมายังส่วนกลาง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะให้การดูแลฟื้นฟูให้กลับมาให้บริการโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ ได้รับรายงานมีสถานบริการถูกน้ำท่วมทั้งหมด 463 แห่ง
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี ซึ่งมีชุมชนที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่เข้ามาอยู่และยังอยู่ในบ้าน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข จัดบริการให้ทั่วถึง และจัดบริการซ้ำทุก 5-7 วัน ในส่วนของจุดอพยพได้แบ่งการดูแลเป็น 3 ระดับตามจำนวนผู้อพยพ คือต่ำกว่า 500 คน 500-1,000 คน และมากกว่า 1,000 คนขึ้นไปเพื่อจัดกิจกรรมดูแลให้เหมาะสม ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การดูแลสุขาภิบาล ทั้งเรื่องที่นอน จุดปรุงอาหารสด จุดแจกอาหาร จุดทิ้งขยะ ความสะอาดปลอดภัยอาหารและน้ำ ความสะอาดห้องส้วม การดูแลสุขภาพจิต และการควบคุมป้องกันโรค
ผลการให้บริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ล่าสุดจนถึง 17 ตุลาคม 2554 หน่วยแพทย์ออกให้บริการทั้งหมด 5,465 ครั้ง ผู้ป่วยสะสม 608,372 ราย โรคที่พบ 5 อันดับแรกได้แก่ น้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย ไข้หวัด โรคผิวหนัง และปวดศีรษะ
***************************** 17 ตุลาคม 2554