ยันการส่งต่อผู้ป่วยหนักภายหลังน้ำท่วมโรงพยาบาลคำนึงความปลอดภัยผู้ป่วยเป็นหลัก
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารส่วนกลางและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเมื่อบ่ายวันนี้ (10 ตุลาคม 2554) ว่า ได้กำชับให้ผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้ปฏิบัติรับมือสถานการณ์น้ำท่วม 9 ข้ออย่างเคร่งครัด ได้แก่ 1.ป้องกันน้ำท่วมสถานที่ ให้ตรวจตราซ่อมเสริมความแข็งแรงแนวป้องกัน 2.สำรองทรัพยากร เวชภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น ออกซิเจน ไฟฟ้า และอาหารผู้ป่วย 3.จัดบริการสถานที่ที่จำเป็น เช่นการย้ายบริการจากชั้น 1ไปชั้นบนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย 4.การจัดบริการนอกสถานที่ 5.การส่งต่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทุกประเภท ทั้งผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยกึ่งหนักและผู้ป่วยทั่วไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัย 6.ให้เตรียมเส้นทางหลักและเส้นทางสำรองในการส่งต่อผู้ป่วยให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว 7. เตรียมยานพาหนะ เช่น รถยก รถสูง เรือ และสถานที่รับเฮลิคอปเตอร์ 8.การจัดตั้งศูนย์อพยพและศูนย์ช่วยเหลือประชาชน 9.การตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้หน่วยบริการสาธารณสุขจัดห้องน้ำหรือส้วมฉุกเฉินให้กับผู้อพยพที่เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ และผู้สูงอายุ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้อพยพเหล่านี้ต้องทนอดอาหารระหว่างน้ำท่วมเพราะไม่สะดวกในการเข้าห้องน้ำ หลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว
นายวิทยายังขอให้ทุกจังหวัดต้องเตรียมพร้อมให้มากที่สุด โดยเฉพาะ 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังให้เตรียมยุทธศาสตร์รองรับหลังน้ำลด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นต้นแบบการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยในส่วนสถานบริการที่เสียหายจากน้ำท่วมต้องได้รับการฟื้นฟูแก้ไขและพร้อมให้บริการทันทีหลังน้ำลด อีกทั้งสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดหลังน้ำลด เช่น โรคฉี่หนูและโรคอุจจาระร่วง
สำหรับที่มีข่าวว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการส่งต่อหลังจากที่มีน้ำท่วมโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเมื่อวานนี้ (9 ตุลาคม 2554) นายวิทยากล่าวว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพียง 1 รายด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากผู้ป่วยดังกล่าวเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ติดเชื้อในกระแสเลือด โดยทั่วไปในหอผู้ป่วยหนักที่รพ.พระนครศรีอยุธยามีผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวันๆ ละ 5-6 รายอยู่แล้ว ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหนักเสียชีวิตรวม 10 ราย ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยไม่ได้มาจากสถานการณ์น้ำท่วมโรงพยาบาลแต่อย่างใด ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอาการหนักเช่นผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้าย เป็นต้น
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ในระหว่างการส่งต่อผู้ป่วยนั้นมีความปลอดภัย แพทย์ทำอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจน และยืนยันว่าไม่มีพระสงฆ์เสียชีวิตเนื่องจากหยุดหายใจในระหว่างการส่งต่อจากรพ.พระนครศรีอยุธยาไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่น
นายวิทยายังได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ว่า ได้สั่งการให้ นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปอำนวยการบริหารจัดการและส่งต่อผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยเน้นความปลอดภัยในการส่งต่อผู้ป่วยเป็นหลัก
****10 ตุลาคม 54
View 18
10/10/2554
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ