รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรมกินเจอย่างมั่นใจที่เยาวราช โชว์ทำบะหมี่สวรรค์อิ่มบุญ กินแล้วไม่อ้วน แนะประชาชน แม่ค้ายึดหลัก 3 ดี คือ สะอาดดี อร่อยดี คุณภาพดี รสชาติไม่หวาน เค็ม มันมากเกินไป เพิ่มผัก ผลไม้ พร้อมเร่งเดินเครื่องการสร้างสุขภาพดีคนไทย โดยเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ คุ้มครองความปลอดภัยอาหารบริโภคลดการป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง  
บ่ายวันนี้ (29 กันยายน 2554) นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยม “มหกรรมกินเจอย่างมั่นใจ : สะอาดดี อร่อยดี คุณภาพดี ที่เยาวราช”ณ ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โดยตรวจเยี่ยมร้านค้าที่จำหน่ายอาหารเจในซอยเจริญกรุง 16 (เล่งป๋วยเอี๊ยะ) และร้านค้าบนถนนเยาวราช ชมการสาธิตการตรวจสารปนเปื้อนในอาหารโดยใช้ชุดทดสอบอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และปรุงอาหารเจเพื่อสุขภาพ ที่ร้านยู้ลูกชิ้นปลา
อาหารเจที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขปรุงมีชื่อว่า บะหมี่สวรรค์อิ่มบุญ สูตรประกอบด้วยบะหมี่ลวก 1 ก้อน ยอดข้าวโพดต้ม 4 ชิ้น ผักกวางตุ้งสุก 2 ช้อนกินข้าว หมี่กึง 3 ชิ้น เป็ดเจ 3 ชิ้น หมูแดงเจ 3 ชิ้น เผือกทอด 1 ชิ้น เห็ดหอมแช่น้ำ 3 ชิ้น และซีอิ้วขาว 1 ช้อนชา มีคุณค่าทางโภชนาการโดยให้พลังงาน 274 แคลอรี่ ให้โปรตีน 21.9 กรัม มีคาร์โบไฮเดรต 40.3 กรัม ไขมัน 3.1 กรัม แคลเซียมบำรุงกระดูก 246 มิลลกรัม และธาตุเหล็กบำรุงเลือด 2.4 กรัม กินแล้วไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม  
   
   
นายต่อพงษ์กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งในปีนี้เริ่มตั้งวันที่ 27 กันยายน – 5 ตุลาคม รวม 9 วันมีประชาชนจำนวนมากที่หันมาถือศีลและงดกินเนื้อสัตว์เพื่อเป็นการสร้างกุศลชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี ขอให้คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร ในแต่ละมื้อจะต้องกินอาหารเจให้มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ขอให้ประชาชนและร้านค้าที่ปรุงและจำหน่ายอาหารเจ ยึดหลัก 3 ดี คือ สะอาดดี อร่อยดี และคุณภาพดี โดยเน้นปรุงให้สะอาด ปลอดภัย เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุง โดยเฉพาะผักต้องล้างน้ำให้สะอาดเพื่อล้างสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไข่พยาธิ สิ่งสกปรกต่างๆที่อาจตกค้าง และปรุงให้สุก ด้วยรสชาติพอดี ไม่หวานจัด เค็มจัด และมีไขมันมากจนเกินไป ปกปิดอาหารให้มิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่นละอองหรือแมลงวันไต่ตอม
นายต่อพงษ์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มุ่งเน้นการคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค 2 เรื่องใหญ่ คือประการแรกคือมาตรฐานความสะอาดตลาดสด ร้านอาหารและแผงลอยทั่วประเทศ พบว่า ตลาดสดทั่วประเทศซึ่งมี 1,517 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป้นตลาดสดน่าซื้อระดับดีและดีมาก 1,292 แห่ง หรือร้อยละ 85 ที่เหลืออีก 225 แห่งจะเร่งให้ได้มาตรฐานภายในปี 2555 ส่วนร้านอาหาร/แผงลอยซึ่งมีทั้งหมด 139,642 แห่ง ผ่านเกณฑ์ได้รับป้ายอาหาสะอาดรสชาติอร่อย หรือ คลีน ฟู้ด กู้ด เทส (Clean food good taste) จำนวน 120,278 แห่ง ยังไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 14 หรือจำนวน 19,364แห่ง ก็จะเร่งให้ผ่านเกณฑ์ทั้งประเทศภายในปี 2555 เช่นกันโดยให้กรมอนามัยดำเนินการ
    
   
ประการที่ 2 คือการคุ้มครองความปลอดภัยอาหารบริโภค ซึ่งมุ่งเน้นการตรวจหาการปนเปื้อนสารอันตรายต้องห้ามได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง สารบอแรกซ์หริอน้ำประสานทอง สารฟอกขาว สารกันรา ฟอร์มาลิน ยาฆ่าแมลง ตรวจน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งมีสารโพลาร์ก่อมะเร็ง ตรวจน้ำบริโภคจากสถานที่ผลิต ตรวจการปนเปื้อนแบคที่เรียในน้ำแข็งในร้านที่ใช้ในร้านอาหารและแผงลอย ตรวจเชื้อรโรคในร้านอาหรที่ผ่านมาตรฐานร้านอาหารสะอาดรสชาติอร่อยและยังตรวจนมโรงเรียน สารอฟลาทอกซินในถั่วแห้ง พริกแห้ง ตรวจปริมาณกรดน้ำส้ม และปริมาณไอโอดีนในเครื่องปรุงรส ในปี 2554 ตรวจรวมทั้งหมด 143,981 ตัวอย่างจากทุกจังหวัด   พบส่วนใหญ่คือร้อยละ 96 ปลอดภัย พบการปนปื้อนเกินมาตรฐาน 6,250 ตัวอย่างหรือร้อยละ 4 โดยพบน้ำบริโภคตกเกณฑ์มากที่สุดร้อยละ 35 รองลงมาคือน้ำแข็งในร้านอาหารแผงลอย ร้อยละ 20 ส่วนประเภทผัก ผลไม้ พบมีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงร้อยละ 5 โดยผักที่พบยาฆ่าแมลงตกค้างมากที่สุด ได้แก่ คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ต้นหอม ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนล้างผักผลไม้ก่อนบริโภค โดยจะเร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาและสร้างความปลอดภัยอาหารให้ได้ 100 เปอร์เซนต์   
    
นายต่อพงษ์กล่าวต่ออีกว่า ในอาหารเจจะไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ ส่วนใหญ่จะมีแป้ง ธัญพืช ถั่ว งา เต้าหู้ อาจทำให้ผู้ที่กินเจขาดโปรตีน ได้รับแป้งและไขมันมากเกินไป กลุ่มที่จะต้องกินเจอย่างระมัดระวัง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เด็กและสตรีมีครรภ์ ขอให้เลือกกินอาหารเจที่มีโปรตีนสูง เช่นถั่วเหลือง ถั่วเขียว เต้าฟู้ ฟองเต้าหู้ นมถั่วเหลือง และปรุงด้วยการต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ แทนอาหารผัด ทอดที่ใช้น้ำมันมาก และกินผัก ผลไม้ที่ไม่หวานมาก ซึ่งจะมีใยอาหารสูงช่วยการขับถ่าย และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และแร่ธาตุช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคอีกด้วย
 ********************************* 29 กันยายน 2554


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ